การพัฒนาพลังงานลมในไต้หวันประสบผลสำเร็จ ไต้หวันกำลังจะเปิดการประมูลก่อสร้างเฟส 3-3
ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันได้ผลักดันการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมลมนอกชายฝั่ง (Offshore Wind Power) อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในไต้หวัน ดำเนินโครงการสนับสนุนให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Localization) โจวอวี่ซิน(鄒宇新) รองอธิบดีกรมพัฒนาอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการแถลงว่า หลังจากการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศมานานกว่าสิบปี อุตสาหกรรมท้องถิ่นได้ผ่านการฝึกฝนจนมีความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านเทคโนโลยี คุณภาพ ราคาแข่งขันได้ และส่งมอบตรงเวลา ซึ่งมีระดับเท่ากับมาตรฐานสากลแล้ว ดังนั้นการพัฒนาโครงการเฟส 3-3 เชื่อว่าผู้ผลิตไต้หวันจะมีความสามารถในการแข่งขันได้ ในอนาคตจะก้าวไปแข่งขันในตลาดระดับเอเชียและระดับโลก
โจวอวี่ซิน ชี้ว่า นโยบายพลังงานลมนอกชายฝั่งของไต้หวันแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยแต่ละระยะใช้เวลา 5 ปี ระยะแรกเป็น “ช่วงการเรียนรู้” ในช่วง 5 ปีแรก รัฐบาลได้คัดเลือกโครงการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในไต้หวันประมาณ 20 รายการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายการที่ไต้หวันมีศักยภาพในการผลิตเอง รายการที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติมให้สามารถแข่งขันได้ในด้านคุณภาพ ราคา และระยะเวลาส่งมอบ
เขายอมรับว่าช่วงแรกของกระบวนการเรียนรู้นั้นยากลำบากมาก ภาคอุตสาหกรรมต้องลงทุนก่อน นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และต้องผ่านการทดสอบคุณภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อนำไปใช้งานในฟาร์มกังหันลม แม้ว่าความตั้งใจเดิมจะต้องการให้การผลิตในประเทศถึง 100% แต่ในทางปฏิบัติ ด้านคุณภาพ ราคา และระยะเวลาส่งมอบยังไม่พร้อมในการแข่งขันได้อย่างเต็มที่
ระยะที่ 2 เป็น “ช่วงเติบโต" ในช่วง 5 ปีที่ 2 หรือในโครงการพัฒนาเฟส 3-1 และ 3-2 อุตสาหกรรมต้องเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีและคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เช่น การลดต้นทุนและปรับปรุงระยะเวลาการส่งมอบให้เร็วขึ้น เมื่อการพัฒนาในสองช่วงแรกเสร็จสิ้นแล้ว
ระยะที่ 3 เป็น “ช่วงเติบโตเต็มที่” โครงการเฟส 3-3 ถือเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมในไต้หวันเข้าสู่ระดับที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล เมื่อภาคอุตสาหกรรมมีความแข็งแกร่งและมีมาตรฐานระดับโลก รัฐบาลควรยุติโครงการส่งเสริมการผลิตในประเทศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตเอง แล้วสามารถออกไปแข่งขันในตลาดเอเชียและระดับนานาชาติ