ไต้หวันไฮเทค

ไต้หวันไฮเทค วันอังคารที่ 11 ต.ค.2565


Listen Later

ITRI ร่วมมือกับ NHRI จัดตั้งคณะทำงาน พัฒนาเทคโนโลยีชีวการแพทย์

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute – ITRI) ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ (National Health Research Institutes) ลงนามความร่วมมือเทคโนโลยีสุขภาพยั่งยืน จัดตั้งคณะทำงาน 10 ชุด มุ่ง 4 ด้าน พัฒนาเทคโนโลยีชีวการแพทย์  รับมือปี 2025 ไต้หวันเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) การวิจัยเทคโนโลยีสุขภาพแม่นยำคือความร่วมมือที่สำคัญ คาดหวังร่วมทุนกันทางด้านชีวการแพทย์และ ICT เพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูงทะลุหลักล้านๆ เหรียญไต้หวัน

สือโฉงเหลียง (石崇良) รมช. กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีการจัดตั้งฐานข้อมูลสายพันธุ์เชื้อโรค เป็นคลังสมอง และคอยหนุนหลัง เพื่อการพัฒนาวัคซีน การตรวจสแกนโรค ยารักษาโรค ทางด้าน ITRI ได้มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการและนักวิชาการกิจการ คาดว่ายุคหลังผ่านการระบาดโรคโควิด-19 จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตสินค้าในเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็วทางด้านการแพทย์แม่นยำ และชีวการแพทย์

ชิวฉิวหุ้ย (邱求慧) ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีกระทรวงเศรษฐการชี้ว่า ITRI คือผู้ที่คอยขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันกิจการนวัตกรรมของไต้หวัน สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติคือผู้ที่เป็นคลังสมองสำคัญทางด้านการวางแผนนโยบายการแพทย์และสาธารณสุข สองฝ่ายมีพื้นฐานการร่วมมือที่ดีระหว่างกันอยู่แล้ว จะทำให้การประสานชีวการแพทย์ และ ICT มีผลสำเร็จแบบทวีคูณ ทำให้มูลค่าตลาดชีวการแพทย์ของไต้หวันเพิ่มขึ้นทะลุล้านล้านเหรียญไต้หวัน จากปัจจุบัน 700,000 ล้านเหรียญไต้หวัน

จางเผยเหริน (張培仁) รองผู้อำนวยการ ITRI บอกว่า ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตามสถิติของยุโรป หากผู้สูงวัยมีสุขภาพ จะทำให้ค่าใช้จ่ายการแพทย์ต่อ GDP อยู่ในสัดส่วนต่ำ เป็นตัวอย่างสำหรับไต้หวันในการแก้ปัญหาเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ สองสถาบันร่วมมือกันโดยอาศัยเทคโนโลยี AI, Big Data ในการประยุกต์ด้านการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษา

เหลียงเกิงอี้ (梁賡義) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติบอกว่า เรื่องของสุขอนามัย การแพทย์ และเภสัชกรรมของประเทศมีความเกี่ยวพันในหลายแขนง ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก มีความจำเป็นต้องทำงานข้ามกระทรวง และมีความจำเป็นต้องประสานกันทางวิชาการ สถาบันทั้งสองมีการหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นโดยบุคลากร จะสามารถมุ่งเข้าสู่มุมมองใหม่เพื่อแก้ปัญหาและเป็นการผลักดันความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยในการลงนามความตกลงระหว่าง ITRI และสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติจะมีการประสานความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีและการวิจัย  เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตในเชิงพาณิชย์ จะมุ่งการวิจัยพัฒนา รวม 10 แขนงคือ 1) วัคซีน ผลิตภัณฑ์ยาชีวภาพ และผลิตภัณฑ์กรดนิวคลีอิก 2) วิศวกรรมชีวการแพทย์และเทคโนโลยีระดับนาโน 3) Regenerative Medicine หรือเวชศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู 4) โมเดลธุรกิจข้อมูลสุขภาพ 5) Big Data กับบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 6) การเพิ่มความสามารถการทำงานของกลุ่มวัยกลางคนและสูงอายุ 7) หุ่นยนต์งานบริการ 8) การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเท่ากับ 0 ด้านชีวการแพทย์ 9) การประยุกต์รูปแบบการรักษาสุขภาพโดยใช้ AI 10) การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยข้อมูล

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ไต้หวันไฮเทคBy แสงชัย กิตติภูมิวงศ์, Rti