ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน - 2020-12-15


Listen Later

ที่นี่ไต้หวัน –15 ธ.ค. 63-ไต้หวันใช้เวลา 6 ปี พัฒนา”ฟักข้าว-มู่เปียกั่ว-木虌果” พืชมหัศจรรย์ชนพื้นเมือง สีสดสวย มากคุณค่า เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

        วันนี้มีเรื่องของฟักข้าวซึ่งเป็นพืชผักที่มีสีสันสดสวยของชนพื้นเมืองไต้หวันมาเล่าสู่กันฟัง หากพูดถึง “ฟักข้าว” หลายคนอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จัก แต่หลายคนอาจจะเคยเห็นและเคยกินกันเพราะว่าในเมืองไทยก็มีให้เห็นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุมากหน่อยก็อาจจะคุ้นเคยกัน แต่ไม่เป็นไรสำหรับคนที่ไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย เราก็ไปทำความรู้จักพร้อมๆ กัน ฟักข้าวเป็นไม้เลื้อยตามต้นไม้หรือตามรั้วบ้าน อยู่ในวงศ์แตงประเภทคล้ายๆ มะระขี้นก มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อย่างเช่น คนปัตตานีจะเรียกว่า “ขี้กาเครือ” สตูลและสงขลา เรียก “ขี้พร้าไฟ” เป็นต้น ฟักข้าวมีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ตั้งแต่จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และในไต้หวันก็พบเห็นเช่นกันแต่เป็นพืชที่ชนพื้นเมืองคุ้นเคยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเมืองไถตงที่อยู่ทางภาคตะวันออก โดยมีการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆของฟักข้าวในหลายๆ ประเทศข้างต้น  อย่างเช่น บางแห่งนำเมล็ดมาบีบทำน้ำมันใช้จุดตะเกียง หรือใช้เป็นน้ำมันซักแห้ง (drying oil) ที่มาเลเซียใช้น้ำมันจากเมล็ดฟักข้าวรักษามะเร็งตับ ที่ฟิลิปปินส์ใช้รากฟักข้าวสระผม กำจัดเหา รากเอาไปบดหมักผมกระตุ้นให้ผมดก ที่จีนใช้เป็นยามีการใช้เมล็ดแก่บำบัดอาการอักเสบบวม กลาก เกลื้อน ฝี อาการฟกช้ำดำเขียว เป็นต้น ที่เวียดนามนิยมใช้เยื่อฟักข้าวสีส้มแดงจากผลพร้อมทั้งเมล็ดมาหุงกับข้าวเหนียวใช้เป็นอาหารบำรุงสายตาได้อย่างดี  ที่ไทยนิยมนำผลอ่อนและยอดใช้เป็นผักโดยนำไปนึ่งหรือลวกให้สุกกินเป็นผักเครื่องเคียงน้ำพริก ส่วนไต้หวันในสมัยก่อนคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักฟักข้าวเท่าไร แต่ชนพื้นเมืองคุ้นเคยมักเก็บจากป่าเอาใบอ่อนยังไม่สุกมาต้มกินพร้อมกับซุปหอยทาก

สถานีปรับปรุงพันธุ์พัฒนาเครื่องมือแยกเยื่อสีส้มแดงและเมล็ดออกจากกัน

        ฟักข้าวภาษาจีนเรียกว่า “มู่เปียกั่ว-木虌果” ได้รับยกย่องว่า “ผลไม้จากสวรรค์-來自天堂的果實” เป็นพืชที่มีความมหัศจรรย์มาก พรั่งพร้อมด้วยคุณประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟักข้าวเป็นพืชที่มีแคโรทีนมากที่สุดในบรรดาพืชผักผลไม้ที่มีสีแดง ส้ม เหลือง และเขียวทั้งหลาย มีไลโคปีนและเบต้าแคโรทีนเยอะมาก ผลฟักข้าว 100 กรัม ให้พลังงาน 28 กิโลแคลอรี มีสารอาหารมากมาย อย่างเช่นเส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง ไนอะซิน วิตามินซี เป็นต้น ไม่กี่ปีนี้ ผู้คนในไต้หวันให้ความสำคัญเรื่องของการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ฟักข้าวเริ่มได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้น สถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตไถตงใช้เวลา 6 ปี พัฒนาพันธุ์ฟักข้าวใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรในท้องถิ่นของเมืองไถตง โดยตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ไถตงหมายเลข-臺東1號 ” เฉินซิ่นเหยียน(陳信言) หัวหน้าสถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตไถตงบอกว่า ตัวเองเคยเห็นผู้ร่วมงานล้างเยื่อสีส้มแดงของฟักข้าว น้ำที่ล้างได้นั้นสีแดงส้มที่สดใสมาก ทำให้เริ่มศึกษาหาข้อมูลของฟักข้าว และพบว่าในเยื่อสีส้มแดงของฟักข้าว มีสารเบตาแคโรทีนมากกว่าแครอต 10 เท่า มีสารไลโคฟีนมากกว่ามะเขือเทศ 12 เท่า จึงตัดสินใจทำการศึกษาวิจัยเรื่องของฟักข้าวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม การวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ของฟักข้าวไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เซียหมิงโถง(薛銘童) ผู้ช่วยที่ทำงานวิจัยฟักข้าวของไต้หวันบอกว่า ภาระกิจเริ่มต้นคือการรวบรวมพันธุ์ฟักข้าวจากที่ต่างๆ ตั้งแต่แถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก หุบเขาตอนกลางด้วยการร่วมมือกับชนพื้นเมืองที่ล่าสัตว์ เข้าไปในป่าเพื่อเก็บตัวอย่างของฟักข้าวธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังนำเข้าฟักข้าวจากเวียดนามมาเปรียบเทียบ ซึ่งพบว่าแม้พันธุ์ฟักข้าวของเวียดนามมีผลใหญ่กว่า แต่พันธุ์ดั้งเดิมของไต้หวันให้ผลผลิตต่อต้นที่มากกว่า และถ้าเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ทั้งพันธุ์ของเวียดนามและของพื้นเมืองไต้หวันมีไลโคปีนมากน้อยขึ้นอยู่กับฤดูกาล ส่วนในเรื่องของรสชาติแล้ว ฟักข้าวพันธุ์ของเวียดนามจะมีกลิ่นเหม็นหืนของน้ำมันเล็กน้อย แต่ว่าพันธุ์เมืองของไต้หวันมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของผล ผลสรุปแล้ว ฟักข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไต้หวันมีข้อได้เปรียบกว่าหลายๆ อย่าง ทำให้ทีมวิจัยเกิดความมั่นใจต่อการพัฒนายิ่งขึ้น

ฟักข้าวสุกต้มซุปก็อร่อย ปั่นเป็นน้ำผลไม้ หรือแปรรูปได้สารพัดอย่าง

       สำหรับในไต้หวันแม้ว่าชนพื้นเมืองมีการเพาะปลูกฟักข้าวมานาน แต่ถ้าต้องการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ให้มีปริมาณมากๆ ยังมีความท้าทายไม่น้อย อย่างเช่น อัตราการงอกของเมล็ดต่ำ หากช่วงหน้าหนาวช่วงก่อนตรุษจีนไม่เพาะปลูก ก็จะผ่านพ้นช่วงเวลาทองของการเพาะปลูกไป นอกจากนี้ ฟักข้าวเป็นพืชที่มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่คนละต้น ต้นฟักข้าวที่ยังเล็กอยู่แยกไม่ออกว่าต้นไหนเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย ต้องรอให้ออกดอกแล้วจึงจะรู้ จึงทำให้ยากต่อการควบคุมให้ได้ผลผลิตปริมาณมากๆ อย่างไรก็ตาม หลังการทดลองวิจัยของหมู่คณะใช้เทคนิกการปลูกภายใต้เงื่อนไขอุณหภูมิต่ำ และใช้วิธีทาบกิ่งขจัดปัญหาเพศผู้เพศเมีย ทำให้เริ่มปลูกฟักข้าวได้ปริมาณที่มากขึ้น จากนั้นศึกษาวิธีการสร้างโครงทำร้านไม้เลื้อยแบบต่างๆ สรุปพบว่า ทำร้านไม้เลื้อยเป็นรูปอุโมงค์เหมาะที่สุด หากตั้งร้านไม้เลื้อยแบบรูป A จะทำให้ผลฟักข้าวถูกแดดเผาได้ง่าย เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ตาม ความสำเร็จของการวิจัยพัฒนาที่ทำให้หมู่คณะชื่นใจไม่ใช่เรื่องเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาได้ทีละเปลาะๆ แต่กลับเป็นเรื่องที่ว่า ได้ต้นฟักข้าวที่โตมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลฟักสุกในช่วงหน้าร้อนใช้เวลาสั้นกว่า ให้ผลผลิตที่ใช้เวลาเพียง 59 วันเท่านั้น ถือว่าเป็นพันธุ์ที่สุกเร็ว พื้นที่เพาะปลูก 1 เฮกตาร์จะให้ผลผลิตมากถึง 43.8 ตัน/ปี มีผลผลิตสูงกว่าฟักข้าวในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 เท่า ปริมาณของผลผลิตมีมากกว่าฟักข้าวพันธุ์พื้นเมืองเดิมของไต้หวันถึง 2 เท่า  และมีเยื่อหุ้มเมล็ดที่เหนียวข้น เมล็ดมีความแข็งเหมาะในการนำไปแปรรูปต่อไป สร้างศักยภาพในการแข่งขัน และเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้อย่างดี นอกจากนี้ สถานีปรับปรุงพันธุ์ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น น้ำผลไม้จากฟักข้าว เนื้อนำมาทำเป็นผลไม้แช่อิ่มหรือผลไม้แห้ง หรือนำมาทำเป็นแยม ไอศครีม เป็นต้น

ฟักข้าวแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม

ทำร้านไม้เลื้อยเป็นรูปอุโมงค์ได้ผลผลิตมากที่สุด

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti