ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน - 2020-12-29


Listen Later

ที่นี่ไต้หวัน –29 ธ.ค. 63-ชอบดื่มไหม? นมถั่วเหลืองไต้หวันNo.1 คุณภาพดี ไม่ตัดต่อพันธุกรรม เจาะตลาดญี่ปุ่นและเป็นเครื่องดื่มของโรงเรียนหลายร้อยแห่งในไต้หวัน

        วันนี้มีเรื่องราวดีๆ ของนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ที่ผลิตจากถั่วเหลืองไม่ตัดต่อพันธุกรรมและปลูกในไต้หวันมาเล่าสู่กันฟัง นมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ก็คือเครื่องดื่มที่ทำมาจากถั่วเหลืองนั่นเอง นมถั่วเหลืองภาษาจีนเรียกว่า “โต้วเจียง-豆漿” และบางคนก็เรียกว่า “โต้วหน่าย-豆奶” การเรียกทั้ง 2 อย่างมีความแตกต่างกันอย่างไร55 ก็คล้ายกับการเรียกในภาษาไทยค่ะที่มีการเรียกว่าน้ำเต้าหู้ หรือว่านมถั่วเหลือง ซึ่งทั้งสองอย่างก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลืองเหมือนกัน แต่ว่ามีความแตกต่างกันในกระบวนการผลิต น้ำเต้าหู้ผลิตแล้วขายดื่มได้เลย ทำสดขายวันต่อวัน หรืออาจจะบรรจุกล่องขายแบบแช่เย็นในอุณหภูมิตู้เย็นที่เก็บได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ซึ่งมีขายหลากหลายยี้ห้อในไต้หวันตามร้านสะดวกซื้อหรือไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่นมถั่วเหลืองมีการผลิตเพื่อพาสเจอร์ไรซ์แล้วนำวางขายในรูปของกล่องหรือขวด เพราะฉะนั้นเวลาซื้อดื่มก็ให้ดูฉลากส่วนผสมหรือคำอธิบาย ซึ่งหลายๆ คนบอกว่าน้ำเต้าหู้สดที่ทำวันต่อวันอร่อยที่สุด แต่เพื่อความสะดวกอาจเลือกซื้อน้ำเต้าหู้สดที่แช่เย็นได้ ซึ่งคุณค่าของนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ก็ถือว่ามีมากไม่ต่างกันนัก ล้วนมีประโยชน์กับร่างกายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้โปรตีนสูง หลายคนอาจคิดว่าผลิตภัณฑ์จากพืชย่อมต้องมีโปรตีนน้อยกว่าสัตว์ แต่ความเข้าใจนี้อาจไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะนมถั่วเหลือง 1 แก้วหรือประมาณ 240 มิลลิลิตรมีโปรตีนมากถึง 7 กรัม ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณโปรตีนจากนมวัวในปริมาณเดียวกัน อีกทั้งการได้รับโปรตีนจากพืชยังดีต่อสุขภาพหัวใจมากกว่าโปรตีนจากสัตว์อีกด้วย ส่วนในเรื่องไขมันและพลังงาน มีความแตกต่างโดยประมาณครึ่งต่อครึ่ง เพราะนมมีไขมันจึงให้พลังงานมากกว่า แต่ไขมันจากนมนั้นส่วนหนึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว ผู้ที่มีปัญหาเรื่องคอเลสเตอรอลหรือคนที่มีปัญหาเรื่องไขมันจึงต้องระวัง ส่วนน้ำเต้าหู้มีไขมันคุณภาพดีอยู่สูง และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว น้ำเต้าหู้ที่ขายโดยทั่วไปมักจะใส่น้ำตาลจนหวานมากทำให้ได้พลังงานมากเกินไป ใครที่คิดว่าจะกินน้ำเต้าหู้เพื่อลดความอ้วนจึงต้องเลือกใส่น้ำตาลน้อยหรือไม่ใส่เลยก็ยิ่งดี และเพราะข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันนี้เอง ปัจจุบันจึงมีคนผลิตน้ำเต้าหู้ผสมธัญพืชเพื่อเพิ่มแคลเซียมและหวานน้อยเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในรูปแบบน้ำเต้าหู้ยูเอชทีใส่กล่องดีไซน์สวย ดื่มง่าย พกพาสะดวก

งานแถลงข่าวผลสำเร็จความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองและผู้ประกอบการ

        สำหรับในไต้หวันแล้ว ถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตนมถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอื่นๆ เกือบ 90% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่อยากให้มีสุขภาพดี ปลอดภัย และไม่มีการตัดต่อพันธุกรรม ไม่กี่ปีนี้ คณะกรรมการการเกษตรไต้หวันได้ผลักดันโครงการยุ้งฉางธัญพืช(大糧倉計畫)ที่ผลิตในประเทศ แนะนำเกษตรกรที่ปลูกข้าวหันมาปลูกธัญพืชมากขึ้น นอกจากนี้ ยังผลักดันโครงการนมถั่วเหลืองที่ผลิตจากถั่วเหลืองปลูกในประเทศ ผ่านการรับรองมาตรฐาน ตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกได้ให้กับโรงเรียนประถมและมัธยมต้นได้ดื่มกัน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแปรรูปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้รางวัลดีเด่นนมถั่วเหลืองคุณภาพดี เป็นต้น ทั้งนี้ กรมการเกษตรและอาหารชี้ว่า ถั่วเหลืองเป็นราชาแห่งถั่ว เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ถั่วเหลืองมีโปรตีนสูงที่สุดในบรรดาถั่วทุกชนิด นอกจากนั้นยังประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต วิตามินบี ธาตุเหล็ก สารต้านอนุมูลอิสระ โอเมก้า 3 กรดอะมิโน เส้นใยอาหาร และเกลือแร่ มีประโยชน์กับร่างกายมากมาย จากสถิติของกรมศุลกากรระบุ ไต้หวันนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐ บราซิล ประมาณ 2,600,000 ตัน/ปี นอกจากการขนส่งที่ต้องใช้เวลานาน อาจทำให้คุณภาพของถั่วเหลืองเปลี่ยนไปแล้ว ถั่วเหลืองที่นำเข้าเกือบ 90% ยังผ่านการตัดต่อพันธุกรรม ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา รัฐบาลผลักดันโครงการยุ้งฉางธัญพืช ให้ความสำคัญกับการปลูกถั่วเหลือง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัย ขณะเดียวกันส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่ผลิตในประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2019 ผลักดันโครงการนมถั่วเหลืองที่ผลิตจากถั่วเหลืองที่ปลูกในประเทศเข้าไปในโรงเรียน มีการให้เงินอุดหนุนค่าขนส่งนมถั่วเหลืองออร์แกนิก 2 เหรียญไต้หวัน/ขวด ให้เงินอุดหนุนค่าขนส่งนมถั่วเหลืองที่สามารถตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกได้ 1.5 เหรียญไต้หวัน/ขวด เพื่อให้ทางโรงเรียนยินดีที่จะซื้อนมถั่วเหลืองเป็นเครื่องดื่มอาหารกลางวันของนักเรียนมากขึ้น กรมการเกษตรและอาหารยังกล่าวด้วยว่า ในปีนี้หลังจากที่รัฐบาลส่งเสริมให้สหกรณ์เกษตรนครนิวไทเปและฟาร์มเกษตรสือเหล่ย(หรือบริษัท Jacksoy) ผลิตนมถั่วเหลืองจากถั่วที่ปลูกในประเทศ จนถึงสิ้นเดือนพ.ย. มีผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด ได้แก่นมถั่วเหลืองและนำถั่วดำที่สามารถตรวจสอบแหล่งปลูก ได้ขายให้กับโรงเรียนทั่วไต้หวัน 395 แห่ง ใน 13 อำเภอจังหวัด จำนวนมากกว่า 1,000,000 ขวด นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสอดคล้องกับโรงเรียนที่ต้องการลดการใช้พลาสติกในเขตนครเถาหยวนและเมืองซินจู๋ ให้นักเรียนดื่มนมถั่วเหลืองที่บดสดในแต่ละวัน กล่าวได้ว่าล้วนแต่เป็นโครงการดีๆ ที่สนับสนุนให้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลูกในประเทศ ปลูกจิตสำนึกนิยมชมชอบผลิตภัณฑ์ในประเทศ แถมยังทำให้สุขภาพแข็งแรงด้วย กรมการเกษตรและอาหารยังชี้ด้วยว่า ธัญพืชของไต้หวันปลูกในสิ่งแวดล้อมที่ดี เทคนิกการแปรรูปอาหารมีความก้าวหน้า มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น

ส่งเสริมให้นักเรียนดื่มนมถั่วเหลืองที่ไม่ตัดต่อพันธุกรรม

          ยกตัวอย่าง กลุ่มสหกรณ์เกษตรการผลิตเขตภาคกลางที่จัดตั้งโดยบริษัท Food & Beverage ที่มีพันธสัญญากับเกษตรกรขนาดเล็ก มีทั้งยุวเกษตรกรและเกษตรกรอาวุโส ตั้งแต่เขตกวนอินของเมืองเถาหยวนจนถึงภาคใต้ในเขตซ่านฮั่วของเมืองไถหนานมีพื้นที่เกือบ 300 เฮกตาร์ สามารถผลิตถั่วเหลืองได้ 500 ตัน/ปี ในจำนวนนี้เป็นถั่วเหลืองที่ปลูกในตำบลเป๋ยกั่งเมืองหยุนหลินประมาณ 80 ตัน ครองสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูก 16%  ในวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรมการเกษตรและอาหารได้จัดงานขอบคุณการเก็บเกี่ยวผลผลิตของตำบลเป๋ยกั่งเมืองหยุนหลิน ในงานมีการมอบรางวัลเกษตรกรดีเด่นและผู้ประกอบการที่ใช้ถั่วเหลืองปลูกในประเทศ เช่น บริษัท Jacksoy ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตนมถั่วเหลืองในประเทศและสามารถส่งนมถั่วเหลืองเจาะตลาดค้าปลีกแฟรนไชส์ในประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ และยังมีบริษัท Milkshop ที่ใช้ถั่วเหลืองปลูกในประเทศ เป็นต้น หม่าอวี้อัน(馬聿安) ประธานบริษัท Food & Beverage บอกว่า ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากโรงงานแปรรูปและผู้ประกอบการที่ใช้ถั่วเหลืองที่ปลูกในไต้หวันมากขึ้น เช่น สหกรณ์เกษตรตำบลหลัวตงเมืองอี๋หลาน, ซุปเปอร์มาร์เก็ตเฉวียนเหลียน, ซุปเปอร์เจสันส์, Jacksoyโรงงานผลิตนมถั่วเหลืองขนาดใหญ่,  KALDI COFFEE FARM เป็นร้านขายเมล็ดกาแฟที่มีสาขามากมายทั่วประเทศญี่ปุ่น, มหาวิทยาลัยผิงตงเทคโนโลยีสาขา Bioscience เป็นต้น และผู้ประกอบการอาหารจำนวนมากต้องการเครื่องหมายการผลิตถั่วเหลืองในประเทศ เพื่อแยกออกจากถั่วเหลืองที่นำเข้าจากต่างประเทศ หวงเหรินจื้อ(黃仁志) หัวหน้ากลุ่มเกษตรถั่วเหลืองของสหกรณ์เกษตรเป๋ยกั่งเชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมระบบเกษตรพันธสัญญา นายหวงได้แบ่งปันประสบการณ์การปลูกถั่วเหลืองว่า ประหยัดน้ำและประหยัดแรงงาน การปลูกและการเก็บเกี่ยวล้วนแต่ใช้เครื่องจักร การดูแลสวนมีความง่าย นอกจากมีรายได้แล้ว ยังได้รับเงินอุดหนุนจากกรมการเกษตรและอาหาร รายได้ดีกว่าการปลูกข้าว

ถั่วเหลืองและถั่วดำไม่ตัดแต่งพันธุกรรม

         นอกจากนี้ ยังขอยกตัวอย่างที่เมืองอี๋หลานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน สหกรณ์เกษตรตำบลหลัวตงร่วมมือกับเกษตรกรปลูกถั่วเหลือง “ฮัวเหลียนหมายเลข 1 ” นำมาเป็นวัตถุดิบผลิตนมถั่วเหลือง ล็อตแรกที่ผลิตได้ รัฐบาลเมืองอี๋หลานซื้อและส่งมอบให้กับนักเรียนในโรงเรียนประถมและมัธยมต้นจำนวนกว่า 30,000 ขวดได้ดื่มกัน หลินจือเมี่ยว(林姿妙) ผู้ว่าเมืองอี๋หลานบอกว่า เพื่อสอดคล้องกับนโยบายการผลักดันปลูกธัญพืชในประเทศของรัฐบาลส่วนกลาง ยินดีที่สหกรณ์เกษตรร่วมมือกับเกษตรกรปลูกถั่วเหลืองที่ปลอดภัยเพื่อนำมาผลิตเป็นนมถั่วเหลือง และจะให้ความร่วมมือต่อไปพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการการปลูกถั่วเหลืองให้มากขึ้น ทั้งนี้ ถั่วเหลืองสายพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 1 เป็นถั่วเหลืองคุณภาพดี เมล็ดใหญ่ ปริมาณการผลิตสูง รสชาติดี เหมาะต่อการปลูกแบบออร์แกนิก แต่เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกยังมีไม่มาก แต่ว่าขณะนี้มีการทำพันธสัญญากับเกษตรตำบลซานซิง สหกรณ์เกษตรเขตซูอ้าว ปลูกถั่วเหลือง ในพื้นที่ 17 เฮกตาร์ ตู้ลี่หัว(杜麗華)หัวหน้าสถานีปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองเมืองฮัวเหลียนบอกว่า การปลูกถั่วเหลืองจะต้องใส่ใจ นอกจากต้องกำจัดวัชพืชที่ต้องใช้แรงงานแล้ว การเลือกเมล็ดถั่วด้วยคนยังต้องเสียเวลามาก ดังนั้น ทางสถานีปรับปรุงพันธุ์จึงผลักดันการใช้เครื่องจักรในการเลือกเมล็ดถั่วเหลืองและกำจัดวัชพืช ทำให้ลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้ 50,000 เหรียญไต้หวัน/เฮกตาร์

ถั่วงอกออร์แกนิกได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti