ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 11 เม.ย.2566


Listen Later

     บนเกาะไต้หวันมีหน่อไม้กินตลอดปี เริ่มจากหน่อไผ่ลูกศร(箭筍), หน่อไผ่กุ้ยจู๋(桂竹筍), หน่อไผ่ลวี่จู๋(綠竹筍), หน่อไผ่เจี้ยวเกา (轎篙筍), หน่อไผ่หมาจู๋ (麻竹筍) ได้กินเรื่อยไปจนถึง หน่อไผ่ตงจู๋(冬筍筍) อาหารรสเลิศเหล่านี้มักจะชวนน้ำลายสอ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหน่อไผ่ลูกศรต้องเก็บในป่าเกือบทั้งหมด ปริมาณจึงจำกัด และไม่เพียงพอสำหรับส่งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตได้ เฉพาะตลาดท้องถิ่นในพื้นที่การผลิตเท่านั้นจึงจะมีขาย จางจินหั่ว (張金火) ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า หมู่บ้านเหลี่ยงหู (兩湖) ในเขตจินซัน นครนิวไทเป พูดแบบติดตลกว่า "ต้องมีบุญพา วาสนาส่งเท่านั้น จึงจะได้กิน" นอกจากนี้ หน่อไผ่ลูกศรอนุญาตให้ชาวบ้าน 22 หมู่บ้านในเขตซื่อหลิน( 士林) ตั้นสุ่ย(淡水) ซานจือ(三芝) สือเหมิน(石門)จินซาน(金山)  และว่านหลี่(萬里) เข้าไปเก็บได้ในป่าบนภูเขาเท่านั้น

ผู้ใหญ่บ้านจางจินหั่ว เชี่ยวชาญในการเก็บหน่อไผ่

     ผู้เก็บหน่อไผ่ลูกศรมีทักษะพิเศษ สามารถแบกหน่อไผ่ลูกศรน้ำหนักกว่าร้อยกิโลกรัมลงทางลาดชันได้ พวกเขามีสายตาที่ดีเยี่ยม เพียงแค่ปลายหน่อที่โผล่ออกมาเพียง 5 ซม.จากพื้นดินที่เต็มไปด้วยใบไม้ร่วงและกิ่งไม้แห้งๆ ก็ไม่อาจหลบหลีกสายตาผู้เก็บที่แหลมคม และพวกเขายังมีทักษะในการรู้ทิศทางเดินที่ยอดเยี่ยม โดยไม่ต้องมีป้ายบอกทิศทางก็ยังเดินทางออกจากป่าได้อย่างปลอดภัย

หน่อไผ่ลูกศรที่โผล่เหนือพื้นดิน

     ในอดีตช่วงที่หน่อไผ่ลูกศรมีมาก ทุกคนต่างต้องการเก็บหน่อไผ่ในฤดูกาลที่ 2 (ประมาณเดือนส.ค.-ก.ย.) ถ้าพูดให้โอเวอร์หน่อย เงินที่ใช้สร้างบางตึกในตำบลเหลี่ยงหูล้วนมาจากการเก็บหน่อไผ่ลูกศร นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บ้านจางจินหั่วที่มีความขยันมักจะออกจากบ้านตั้งแต่เช้า พกข้าวปั้นขึ้นเขาเพื่อเก็บหน่อไม้ เมื่อเก็บได้จนเต็มถุงจึงจะยอมลงจากเขา ซึ่งผู้ที่ขึ้นเขาเก็บหน่อไม้ล้วนไม่มีการแบ่งแย่งพื้นที่กัน ล้วนอาศัยฝีมือของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ในอดีต อุทยานหยางหมิงซานเคยห้ามผู้คนเก็บหน่อไผ่ แต่ต่อมานักวิชาการให้ความเห็นว่า หน่อไผ่ลูกศรเป็นพืชที่มีจำนวนมาก และการเก็บไปใช้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ ต่อมารัฐบาลจึงเปิดให้ผู้คนขึ้นเขาเก็บหน่อไผ่แบบมีเงื่อนไขด้วยการลงทะเบียนก่อน

การลอกเปลือกหน่อไผ่ไม่ใช่เรื่องง่าย

      การเก็บหน่อไผ่ลูกศรเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปอกเปลือกนอกของหน่อไม้เป็นสิ่งที่ยาก จางจินหั่ว บอกว่า ตัวเองเก็บหน่อไผ่เสร็จบ่าย 2-3 โมงก็จะลงจากเขา จากนั้นสมาชิกในบ้านก็เริ่มทำการล้าง ปอกเปลือก ต้องทำจนถึง 3-4 ทุ่มจึงจะเสร็จงาน เปลือกนอกของหน่อไม้แข็งมาก ต้องใช้มีดแหลมคมกรีดให้เป็นเส้น แล้วบิดไปมาให้เปลือกหลุด จากหน่อไม้ที่พร้อมเปลือกน้ำหนัก 3 ชั่ง(1.8 กก.) เมื่อปอกเปลือกแล้วเหลือเพียง 600 กรัม แต่ปัจจุบันเนื่องจากขนาดของหน่อไม้เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน กลายเป็นว่าจากหน่อไม้พร้อมเปลือก 2.1 กก. เมื่อปอกเปลือกแล้วเหลือเพียง 600 กรัม ส่วนในเรื่องของราคาซื้อขายนั้น ถ้าเป็นตลาดสดจินซาน หน่อไม้ลูกศรน้ำหนัก 600 กรัม ขายได้ 350 เหรียญไต้หวัน ตลาดสดเป่ยโถวขาย 400 เหรียญไต้หวัน/นน.600 กรัม ซึ่งมีลูกค้าแซ่หยางรายหนึ่งฝากเพื่อนที่ซานจือซื้อน้ำหนัก 600 กรัม ราคา 500 เหรียญไต้หวัน เธอบอกว่ากินปีละครั้ง แพงหน่อยก็ไม่เป็นไร

ผัดหน่อไผ่ใส่หมูเส้น

      เมื่อซื้อหน่อไผ่ลูกศรไปแล้วจะนำไปปรุงอาหารอย่างไร? วิธีการที่นิยมมากที่สุดคือการนำไปผัดกับซีอิ๊ว ใส่เนื้อต่างๆ ตามใจชอบ เช่น เนื้อหมูเส้น พร้อมกับใส่เห็ดหอมลงไป ซึ่งแม่บ้านแซ่จางรายหนึ่งบอกว่า เนื่องจากเวลาผัดหน่อไม้รสชาติจะเข้าเนื้อยาก ดังนั้นจึงต้องเติมรสชาติจัดหน่อย หน่อไม่ลูกศรเมื่อนำไปผัดแล้วใช้เป็นกับแกล้มของคนดื่มเหล้าอย่างดี จะผัดครั้งละเยอะหน่อยก็ได้ แล้วเก็บไว้อุ่นกินในครั้งต่อไปก็ยังอร่อย แต่ถ้าใครที่อยากกินหน่อไผ่ที่รสจืดหน่อย สามารถใช้ด้ามมีดตบหน่อไม้ให้แตกเล็กน้อย เพื่อให้รสชาติเข้าเนื้อหรือไม่ก็นำไปต้มซุปกับเกี่ยมไฉ่กับกระเพาะหมูก็อร่อยมาก

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti