ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 12 มกราคม 2564


Listen Later

เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพจากแหล่งปลูกสู่โต๊ะอาหาร เพื่อความยั่งยืนและสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น

        ปัจจุบันที่เทรนด์การรักสุขภาพกำลังมาแรง หลายคนหันมาใส่ใจกับอาหารที่ตัวเองรับประทานกันมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องการรับประทานให้เกิดความอร่อยเท่านั้น ที่สำคัญยังต้องมีความไว้วางใจ ไว้วางใจว่าสิ่งที่ตนเองรับประทานนั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ รับประทานแล้วดีต่อสุขภาพหรือไม่ เพราะฉะนั้น ทำให้หลายๆ คนพยายามที่จะสรรหาอาหารที่ปลอดภัย อย่างเช่น อาหารออร์แกนิกหรืออาหารอินทรีย์ ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารก็เช่นกัน พยายามสรรหาแหล่งที่มาของอาหารที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจ นอกจากนี้ คณะกรรมการการเกษตรของไต้หวันพยายามยกระดับการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร จึงได้ส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดสารพิษ ส่งผลให้ชาวไต้หวันตื่นตัวในการบริโภคผลผลิตและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มากขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันมีเทรนด์การร่วมมือระหว่างเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์กับร้านอาหาร ซึ่งในวันนี้ก็ขอยกตัวอย่าง ร้านอาหารจีนฮากกาเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงที่ตั้งอยู่ในเขตจงลี่ของเมืองเถาหยวนและเปิดดำเนินกิจการมานานกว่า 40 ปี ปัจจุบันสืบทอดกิจการถึงรุ่นที่ 3 แล้ว ร้านนี้ชื่อว่า“ซินไป่หวัง-新百王” ได้ร่วมมือกับเพ่ยฟางออร์แกนิกฟาร์ม (Peifang Organic Farm) รวบรวมสมาชิกเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์และร้านอาหารที่มีอุดมการณ์ร่วมกันประกอบกิจการเพื่อสังคม นายเจี่ยนจิ้งหง (簡境宏) เถ้าแก่ร้านอาหารซินไป่หวังและยังเป็นพ่อครัวหลักของร้านบอกว่า หลายปีมานี้ได้พยายามเปลี่ยนแนวของร้านอาหารจากเดิมๆ ในอดีต โดยตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา เมนูอาหารในร้านกว่า 50 อย่าง ล้วนแต่ใช้วัตถุดิบที่เป็นเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่ายเลยทีเดียว นายเจี่ยนเล็งเห็นว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันไม่เพียงแต่ชอบอาหารอร่อย ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องการรับประทานอาหารที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาก็เลยค่อยๆ เพิ่มเมนูในร้านที่มีการใช้วัตถุดิบที่เป็นเกษตรอินทรีย์และวัตถุดิบที่ใช้นั้นต้องอยู่ในอาณาบริเวณของเมืองเถาหยวนด้วย โดยในปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้ในร้านอาหารเป็นประจำได้แก่ ข้าวอินทรีย์ต้าเฮ่อตำบลต้าหยวน คีนัวและเห็ดหูหนูอินทรีย์เขตต้าซี ข้าวกล้องอินทรีย์เขตหลงถัน ผักอินทรีย์เขตผิงเจิ้น เป็นต้น ซึ่งบอกได้ว่าแต่ละรายการล้วนเพิ่มต้นทุนการประกอบการ และต้นทุนก็เป็นสิ่งที่คนเปิดร้านอาหารต้องคำนึงถึงมากที่สุดด้วย แต่อย่างไรก็ตาม นายเจี่ยนบอกว่า เพื่อต้องการให้ลูกค้าได้ลิ้มรสดั้งเดิมของอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ บางสิ่งบางอย่างประหยัดไม่ได้ นายเจี่ยนเชื่อว่าหากมีการใช้วัตถุดิบที่สดใหม่จากท้องถิ่นและปลอดสาร นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคเกิดวามไว้วางใจแล้ว ยังถือเป็นการตอบแทนเกษตรกรที่ตั้งใจปลูกได้ดีที่สุด

เมนูอาหารในร้านซินไป่หวังกว่า 50 อย่าง ล้วนใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในพื้นที่

       การทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรออร์แกนิกนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะผ่านการรับรองผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีการตรวจที่เข้มงวดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การลงเมล็ดพันธุ์ปลูก ขั้นตอนการดูแล สภาพแวดล้อมที่ปลูก การใส่ปุ๋ย การป้องกันโรคหรือหนอนแมลงที่มากัดกิน ตลอดจนการขนส่ง ล้วนแต่มีความละเอียดลออ จึงจะได้ใบรับรองว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยที่ผู้บริโภคเองก็ไม่ทราบว่าใบรับรองนี้ได้มาด้วยความยากลำบาก นายเจี่ยนเจ้าของภัตตาคารซินไป่หวัง ผู้ริเริ่ม “ร้านอาหารสีเขียว” ได้เชิญร้านอาหารและภัตตาคารในเมืองเถาหยวนกว่า 10 แห่งเข้าร่วมโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้วัตถุดิบที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ นายเจี่ยนจิ้งหงบอกว่า ร้านอาหารหรือภัตตาคารควรที่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบในการประกอบอาหารมากว่าผู้บริโภค และต้องด้วยความจริงจังและโปร่งใส ตั้งแต่แหล่งผลิตจนกระทั่งไปอยู่บนโต๊ะอาหาร เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ผลิตผลของเกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยที่ผ่านมาร้านอาหารมักจะเน้นแต่เรื่องของฝีมือการประกอบอาหาร และเลือกวัตถุดิบที่ราคาถูก จากนั้นปรุงให้ได้รสชาติที่อร่อยที่สุด

ภายในร้านมีมุมขายวัตถุดิบที่เป็นมิตรให้กับลูกค้า

     นายอู๋เฉิงฟู่ (吳成富) เจ้าของเพ่ยฟางออร์แกนิกฟาร์ม ปัจจุบันอายุ 43 ปี และเพิ่งได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นในเดือนต.ค.ปี 2020 เดิมทีก็มีแนวความคิดที่เหมือนกับนายเจี่ยนจิ้งหง หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกัน ผลักดันโครงการร้านอาหารสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชิญชวนร้านอาหารและเกษตรกรอินทรีย์เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ครบวงจรตั้งแต่ผู้ปลูกจนถึงร้านอาหารและผู้บริโภค โดยใช้วัตถุดิบที่ปลูกในท้องถิ่น สำหรับร้านอาหารหรือภัตตาคารที่เข้าร่วมโครงการของเมืองเถาหยวนนั้น นอกจากจะใช้วัตถุดิบที่เป็นของสดจากท้องถิ่นแล้ว ภายในร้านยังจัดมุมขายวัตถุดิบที่เป็นมิตรให้กับลูกค้าด้วย หากแม่บ้านที่ไม่มีเวลาไปซื้อผักที่ตลาดก็สามารถสั่งซื้อผักจากทางร้านได้เลย สามารถซื้อผักที่ทางร้านล้างและหั่นให้เรียบร้อยได้เลย หรือแม้แต่เครื่องปรุงก็สามารถเตรียมให้ได้  นายอู๋เฉิงฟู่และนายเจี่ยนจิ้งหง ผู้ริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างร้านอาหารและฟาร์มเกษตรอินทรีย์ มีความคาดหวังนำสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ ถ่ายทอดให้กับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในที่ห่างไกลชุมชน อย่างเช่น นำผู้ร่วมโครงการไปที่โรงเรียนประถมเป่ยหู เขตซินอู ของนครเถาหยวน จัดกิจกรรมร่วมกัน อย่างเช่น เล่นเกมส์ ห่อเกี๊ยวซ่า กินเกี๊ยวซ่า เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจผลิตภัณฑ์เกษตร เนื่องจากได้รับการตอบรับจากเด็กๆ และมีเสียงหัวเราะมากมาย สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ทำโครงการไม่น้อย นายเจี่ยนจิ้งหงจึงตั้งชื่อเกี๊ยวซ่านี้ว่า “เกี๊ยวซ่ากินอิ่ม(Si Bao)ที่ตรวจสอบแหล่งผลิตได้"

เกี๊ยวซ่ากินอิ่ม (Si Bao) ที่ตรวจสอบแหล่งผลิตได้

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti