ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 14 กันยายน 2564


Listen Later

เบื้องหลังการปลูกฟักเขียว!!จากพ่อค้าคนกลางก้าวสู่เกษตรกรผู้ปลูกรายใหญ่นับหมื่นลูก

วันนี้มีเรื่องของการปลูกฟักเขียวของเกษตรกรท่านหนึ่งที่เป็นทั้งพ่อค้าคนกลางค้าส่งฟักเขียวและปลูกฟักเขียวด้วยนำมาเล่าสู่กันฟัง สวนปลูกฟักเขียวของเขากว้างใหญ่มองดูสุดลูกหูลูกตา เห็นเพียงขอบฟ้าสีครามและเทือกเขาที่อยู่ไกลๆ ภายใต้แสงอาทิตย์อันร้อนแรงในช่วงฤดูร้อน ก็ยิ่งทำให้สวนที่ปลูกฟักเขียวดูแล้วกว้างใหญ่ไพศาล นายหลินเจียปิน(林加彬) เจ้าของสวน แนะนำพื้นที่ปลูกฟักเขียว เนื้อที่ 20 เฮกตาร์(หรือ125 ไร่)บอกว่า ต้องใช้กำลังคนดูแลสวนไม่น้อย ถ้าคำนวณระยะทางแต่ละแถวที่ปลูกฟักเขียว เดินสัก 1 รอบรวมๆ กัน อย่างน้อย 30 กิโลเมตร เดิมเขาเป็นพ่อค้าคนกลางที่ค้าส่งฟักเขียว รวบรวมฟักเขียวที่ปลูกในที่ต่างๆ ของไต้หวัน ไม่ว่าจะมาจากต้าเจี่ยของนครไทจง เมืองจางฮั่ว เมืองฮัวเหลียน แล้นำไปส่งที่ตลาดค้าส่ง หรือไม่ก็นำไปขายให้กับโรงงานแปรรูปอาหารที่ต้องการใช้ฟักเขียว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน เนื่องจากแหล่งผลิตฟักเขียวไม่คงที่ บางทีก็เยอะ บางทีก็น้อย เพราะฉะนั้น นายหลินจึงเช่าที่กับบริษัทไทวานชูการ์ เริ่มปลูกฟักเขียวที่เมืองไถตง

ชาฟักเขียวดับกระหายคลายร้อน

การปลูกฟักเขียวของไต้หวันมีหลากหลายสายพันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ที่มีเปลือกสีภายนอกต่างกัน แต่ความต้องการของตลาดหลักๆ แล้วเป็นฟักเขียวผลใหญ่ที่มีเปลือกสีขาว และฟักเขียวผลค่อนข้างสั้นเปลือกสีเขียว ฟักเป็นพืชที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากอุณหภูมิของแต่ละท้องที่ในไต้หวันมีความแตกต่างกัน ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงต่างกัน ถ้านับตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่เป็นล็อตแรกส่งขายตลาด พื้นที่เพาะปลูกฟักเขียวจะอยู่ทางภาคใต้ แถบเมืองเกาสง ผิงตง ส่วนฟักเขียวที่ปลูกในเมืองเจียอี้ จางฮั่ว จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพ.ค. และเมื่อถึงเดือนมิ.ย.ก็จะผลผลิตของเขตต้าเจี่ยของนครไทจง และของเมืองเหมียวลี่ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ปลูกในเขตภาคตะวันออก เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรงในช่วงฤดูหนาว ส่วนใหญ่แล้วจะต้องรอถึงเดือนมี.ค. เม.ย.จึงค่อยเริ่มปลูกฟักเขียว และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนก.ค.เป็นล็อตแรก

ฟักเขียวทำไส้พายสับปะรด รสชาติกลมกล่อมขึ้น

นายหลินเจียปินบอกว่า ผลฟักเขียวมีน้ำหนักมาก เป็นพืชที่มีราคาต่อหน่วยค่อนข้างต่ำ เวลาปลูกแม้จะปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี แต่การดูแลก็ไม่ใช่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปลูกในฤดูกาลที่ต่างกัน จำเป็นต้องได้รับการดูแลที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน การปลูกฟักเขียวจำเป็นต้องในผ้ายางสีขาวคลุม เพื่อกันไม่ให้แดดเผา แต่ใช่ว่าไม่ให้ได้รับแสงแดดเลย นอกจากนี้ ในสภาพที่อากาศร้อนมาก ก็จะมีศัตรูพืชแมลงหวี่ขาวซิลเวอร์ลีฟมาก แมลงหวี่ขาวจะไปดูดสารอาหารในฟักและติดเชื้อ ทำให้ใบฟักหยิกงอ เปลี่ยนรูป จนผลผลิตลดลง ส่วนในช่วงฤดูหนาว สิ่งที่ต้องระวังคือปริมาณการใส่ปุ๋ย หากใส่เยอะเกินไป จะทำให้เนื้อฟักเขียวมีจุดแดง เนื้อแข็ง ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด และในช่วงไม่กี่ปีนี้ ภาวะอากาศที่แปรปรวนมาก การดูแลจัดการต้องอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาในการตัดสินว่าคุณภาพดีหรือไม่ ยกตัวอย่าง การเกิดจุดแดงที่เนื้อฟัก บางครั้งหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร บางครั้งอาจจะใส่ปุ๋ยเยอะเกินไป แต่บางครั้งช่วงที่เก็บเกี่ยวก็ปกติไม่มีจุดแดง แต่หลายวันผ่านไปกลับมีจุดแดงปรากฏให้เห็น จุดแดงในเนื้อฟักเขียวไม่ส่งผลต่อรสชาติของฟัก แต่ว่ามันไม่สวย เมื่อส่งไปขายที่ตลาดไม่มีคนซื้อ เพราะฉะนั้นจะต้องส่งไปขายที่โรงงานแปรรูปอาหาร และถ้าคุณภาพแย่ไปกว่านี้ก็ต้องทิ้งไปเลย การปลูกฟักเขียวเริ่มจากการปรับที่ดินแล้วปลูก ดูแล ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ขอเพียงดูแลจัดการที่ดี ไม่ให้ใบของฟักหยิกงอ แต่ไม่กี่ปีนี้ มีปัจจัยหลายอย่างเกิดขึ้น อย่างเช่น เมื่อเอาฟักขึ้นรถแล้วส่งไปขายที่ตลาด ก็ยังรับประกันไม่ได้ว่ามีคุณภาพดีหรือไม่ นอกจากดูรูปร่างภายนอกแล้ว ช่วงที่เคลื่อนย้ายฟักเขียว เพียงแค่ยกขึ้นจากการสัมผัสด้วยมือก็จะรู้ว่าคุณภาพของฟักเขียวดีหรือไม่ วิธีการปลูกของนายหลินคือ จะไม่ปล่อยให้ฟักสุกเกินไปแล้วค่อยเก็บเกี่ยว จะไม่เคลื่อนย้ายฟักโดยไม่จำเป็น จะปล่อยไว้ในแปลงก่อน จนกระทั่งต้องการขายแล้วจึงเคลื่อนย้าย   คือปลูกฟักได้ประมาณ 3 เดือนก็จะตัดขั้วฟัก แต่ไม่เคลื่อนย้ายลูกฟัก เพื่อลดการเกิดจุดแดงในเนื้อฟักหรือทำให้ฟักช้ำ

ฟักเขียวพะโล้ หอมอร่อย

ปัจจุบัน สวนปลูกฟักเขียวของนายหลินเจียปินในเนื้อที่ 20เฮกตาร์ จ้างคนงานดูแล จัดการสวนเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น ช่วงหน้าร้อนอากาศร้อนมาก ประมาณตี 5 กว่าๆ นายหลินก็เข้าไปสวนฟัก เตรียมรดน้ำครั้งแรกของวัน หน้าร้อนต้องรดน้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง/วัน หน้าหนาวรดน้ำเพียง 2 ครั้งก็พอ การดูแลฟักนับหมื่นลูกต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดวัชพืช การพ่นยาฆ่าแมลง การดึงเถาวัลย์ การปูผ้าคลุม คนงานมีน้อย ไม่เพียงพอ เป็นปัญหาที่พบเห็นปกติ ยิ่งงานปลูกฟักเขียวอยู่ที่โล่งแจ้ง ไม่มีที่กำบังแดด ยิ่งหาคนงานยาก เขามีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของตลาดฟักเขียว ฟักที่ดูจากรูปร่างภายนอกมีสีเขียวสด ก็จะดึงดูดผู้บริโภคซื้อหรือสนใจ แต่ถ้าฟักที่ดูแล้วมีสีขาว มีจุดแดง หรือว่าเป็นฟักที่ถูกแดดเผา ก็จะไม่มีคนซื้อ และฟักเขียวที่มีเนื้อแน่นและมีกลิ่นหอม จะเหมาะในการนำไปทำเป็นไส้ขนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราคุ้นเคยคือการทำเป็นไส้พายสับปะรดหรือไส้ขนมปังหลากหลายชนิด ด้วยเหตุนี้เอง ราคาของฟักเขียวในช่วงเดือนเม.ย. พ.ค. จนกระทั่งถึงช่วงก่อนเทศกาลไหว้พระจันทร์ก็จะสูงขึ้น และยังมีปรากฏการณ์ที่ว่า ราคาของฟักเขียวยิ่งสูง ยิ่งมีผู้บริโภคมาก แต่ว่าผู้บริโภคทั่วไปจะเห็นฟักเขียวที่ขายในท้องตลาดส่วนใหญ่หั่นขายเป็นชิ้น(เพราะฟักเขียวที่ปลูกในไต้หวันผลใหญ่มาก) แม้หั่นขายเป็นชิ้นแต่ก็ไม่ทำให้รสชาติเสีย ให้เลือกเนื้อขาว ดูแล้วเนื้อแน่นก็ได้แล้ว เพราะว่าเมื่อนำกลับไปที่บ้านแล้วจะต้องผ่านความร้อนหรือต้มอยู่แล้ว

ขายปลีกที่ตลาด จะหั่นเป็นชิ้น สะดวกในการประกอบอาหาร

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti