ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2564


Listen Later

ต้นหอมที่ปลูกในไต้หวันเผชิญกับปัญหาศัตรูพืชที่มาทำลาย ภาวะภัยแล้ง ภาวะฝนตกหนัก

ภายใต้ภาวะแปรปรวนของอากาศ ปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศที่มีความสุดโต่ง หรือลมฟ้าอากาศที่ผิดไปจากปกติมาก ไม่กี่ปีนี้ ต้นหอมที่ปลูกในไต้หวันมักเผชิญกับปัญหาศัตรูพืชที่มาทำลาย ภาวะภัยแล้ง ภาวะฝนตกหนัก จนทำให้เกิดเสียหายมาก เนื่องจากต้นหอมเป็นผักที่ขาดไม่ได้สำหรับคนไต้หวัน ไม่ว่าจะใช้ในการปรุงอาหารที่เพิ่มรสชาติ  ใช้ประดับจานอาหารให้เกิดความสวยงาม ใช้ทอดไข่ก็อร่อย ใช้ทำขนมแพนเค้กต้นหอมสไตล์จีนหรือที่เรียกว่า “ชงหยิวปิ่ง-蔥油餅” หรือนำมาทำซาลาเปาอบกรอบหมูพริกไทยหรือใช้เนื้อวัวแทนหมูก็ได้ ที่คนไต้หวันเรียกว่า ” หูเจียวปิ่ง-胡椒餅” และอีกหลายๆ เมนู ล้วนต้องใช้ต้นหอมเพิ่มรสชาติให้เกิดความอร่อย เห็นเป็นผักฉุน ๆ แบบนี้แต่กลับเป็นผักที่มีความสำคัญในการประกอบอาหาร หลายคนมักให้ความสำคัญกับใบของต้นหอมที่มีสีเขียวเรียวยาว แต่อย่าเพิ่งละเลยส่วนหัวสีขาวที่ใครต่อใครก็บอกว่ารับประทานยากและฉุนกว่าส่วนอื่น ๆ เพราะส่วนหัวขาว ๆ นี้เองที่เป็นแหล่งน้ำมันหอมระเหยที่เพิ่มความอร่อยกลมกล่อมมาก ๆ เมื่อนำไปปรุงอาหารทั้งในน้ำซุป โดยตัดส่วนหัวของต้นหอมออกล้างให้สะอาด ต้มในน้ำซุป ตุ๋นในพะโล้ ใช้แทนหัวหอมใหญ่ ทำให้น้ำซุปมีความหวานจากธรรมชาติ ดีต่อร่างกายสำหรับคนทุกเพศทุกวัย

ขนมชงหยิวปิ่ง(ซ้าย) หูเจียวปิ่ง(ขวา) ใส่หอมซอยเพิ่มรสชาติความกลมกล่อม

ล่าสุด สถาบันวิจัยการเกษตรไต้หวัน (Taiwan Agricultural Research Institute :COA) พัฒนาเทคนิคการปลูกต้นหอมที่ลดการใช้ยาฆ่าแมลง และสามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่แปรปรวนได้ โดยคัดเลือกต้นกล้าของต้นหอมที่มีความแข็งแรง สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ ซึ่งเทคนิคนี้สามารถยกระดับปริมาณการปลูกต้นหอมได้มากถึง 20%  นอกจากนี้ ยังลดการใช้ยาฆ่าแมลงในช่วงเวลาปกติด้วย แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนก็จะใช้ยาฆ่าแมลงที่มีความแม่นยำ ทันท่วงที ก็จะช่วยลดความเสียหายของต้นหอมได้มากถึง 50% ในสภาพที่อากาศแปรปรวนสุดโต่ง ราคาของต้นหอมที่ปลูกในไต้หวันก็มีความแปรปรวนมาก อย่างเช่น ช่วงปกติกิโลกรัมละ 50 เหรียญไต้หวัน กลายเป็นกิโลกรัมละกว่า 200 เหรียญไต้หวันหรือมากกว่านี้ถ้าฝนตกหนักหรือแล้งจัด การขายต้นหอมเกิดความไม่สมดุล ทั้งนี้ เกษตรกรที่ปลูกต้นหอมส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการแยกต้นกล้าไปปลูก ซึ่งวิธีการนี้เชื้อโรคที่อยู่ในกอเดิมก็จะติดไปด้วย และในภาวะปกติ ต้นหอมจะเจริญเติบโตได้ดี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอสิ่งแวดล้อมที่ผิดไปจากเดิม เชื้อโรคจะแพร่กระจายได้เร็วขึ้น ดังนั้น ทางสถาบันวิจัยการเกษตรของไต้หวันใช้เทคนิคการคัดเลือกต้นกล้าที่มีไวรัสแต่ไม่แสดงอาการออกไป หลินเสวียซือ(林學詩) ผอ.สถาบันวิจัยการเกษตรชี้ว่า เพียงแค่คัดเลือกต้นกล้าของต้นหอมที่ไม่มีเชื้อไวรัส ก็สามารถยกระดับปริมาณการปลูกได้สูงถึง 20% และในอนาคต สมาคมเกษตรซานซิงเมืองอี๋หลานจะร่วมมือกับสถาบันวิจัยการเกษตรปลูกต้นหอมที่มีความแข็งแรงด้วย

ต้นกล้าที่ผ่านการคัดเลือกจะแข็งแรงและมีผลผลิตมากกว่า(ซ้าย) ต้นกล้าปกติทั่วไป(ขวา)

การปลูกต้นหอมภายใต้อากาศที่แห้งแล้งเป็นเวลานาน จะทำให้หนอนกระทู้หอม (Beet armyworm)มาทำลายได้ง่าย โดยปกติในแปลงปลูกต้นหอม จะติดต้องอุปกรณ์ที่มีฟีโรโมนของหนอนกระทู้หอม เพื่อล่อหนอนตัวผู้มาฆ่า และอุปกรณ์นี้ยังสามารถตรวจวัดปริมาณของหนอนได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามปริมาณของหนอนเกินกว่าสัญญาณเตือน ให้ใช้ยาฆ่าแมลงชนิดอื่นมาควบคุม เพื่อทำลายไส้เดือนฝอยรากปม จากนั้นพ่นด้วยกรดโปคลอรัสซึ่งเป็นกรดอ่อนๆ ที่ต้นหอม เพื่อป้องกันโรคเน่าที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเป็นการใช้วิธีผสมผสานเพื่อป้องกันโรคจากแมลงในขอบข่ายที่มีความปลอดภัย สามารถลดการใช้ยาฆ่าแมลงได้มากถึง 30% ลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างในต้นหอมได้ ทั้งนี้ ในภาวะปกติ เกษตรกรมักปลูกต้นหอมได้สวยงาม แต่หลังฝนตกหนักแล้วมักจะประสบปัญหาลำต้นเน่าและใบแห้งเป็นจำนวนมาก เกษตรกรคิดว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากน้ำฝนที่ขังแล้วทำให้มีปัญหาต่อการเจริญเติบโตของต้นหอม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จากการทดลองของสถาบันวิจัยการเกษตรพบว่า หลังฝนตกติดต่อกัน 2 วันหรือประมาณ 48 ชม. ต้นหอมจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เพราะฉะนั้นก่อนฤดูฝนประมาณ 1 เดือน เกษตรกรสามารถใช้สารละลายฟอสเฟตที่เป็นกลางในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับต้นหอม และในช่วงก่อนฤดูฝน ช่วงระหว่างฤดูฝน และหลังฤดูฝน ให้ใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณที่แม่นยำทันท่วงที จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในแปลงต้นหอมได้มากกว่า 50%

หลังฝนตกติดต่อกัน 2 วัน ต้นหอมจะเกิดการติดเชื้อและตายเป็นจำนวนมาก

 หวงจิ้นซิง(黃晉興)ผู้ช่วยวิจัยของสถาบันชี้ว่า เกษตรทั่วไปคิดว่ากำจัดต้นหอมที่ติดเชื้อทิ้งไปประมาณ 20% ที่เหลืออีก 80%จะเป็นต้นหอมที่แข็งแรงไม่มีโรค แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในจำนวนที่เหลือมีอยู่ประมาณ 50% จะมีเชื้อโรคแฝงอยู่ พอเจอสภาพอากาศที่วิปริตเชื้อโรคก็จะกำเริบขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น ทางสถาบันแนะนำให้เกษตรเลือกปลูกต้นกล้าที่ที่มีความแข็งแรง ใส่ปุ๋ยในปริมาณที่พอเหมาะ จากนั้นใช้ยาในการรักษาช่วงฤดูฝน นายหวงบอกด้วยว่า หลังฝนตกติดต่อกัน 2-3 วัน ก็จะเกิดการติดเชื้อง่าย เพราะฉะนั้น การใช้ยาฆ่าแมลงก่อนฤดูฝนเป็นสิ่งสำคัญ เกษตรกรต้องคอยติดตามการพยากรณ์อากาศ อย่างน้อย 1 วันก่อนฝนตก ต้องรีบใช้ยา และหลังฝนตกแล้วให้ใช้ยาซ้ำอีกครั้ง จะทำให้การป้องกันการติดเชื้อได้ผลดี ซึ่งในเรื่องของการพยากรณ์อากาศ ทางสถาบันวิจัยการเกษตร ได้ออกแบบแอปพลิเคชันการพยากรณ์อากาศสำหรับเกษตรกรเพื่อใช้ในการป้องกันโรคโดยเฉพาะ สามารถติดตามสภาพอากาศ ดำเนินการป้องกันโรคในแปลงต้นหอม ทำให้การปลูกและการจัดการกับต้นหอมได้ง่ายขึ้น

ช่วงหน้าฝน ใช้เทคนิคการป้องกันและใช้ยาฆ่าแมลงที่แม่นยำ ปริมาณเหมาะสม ปัญหาติดเชื้อจะลดลง

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti