ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2564


Listen Later

ไต้หวันประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูทะเลผสมเทียม

วันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยการประมงชี้ว่า ไต้หวันประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูทะเลที่ได้จากการผสมเทียมล็อตแรก ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาเทคนิคเพาะเลี้ยงปูทะเลทำได้ยาก ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ต้องอาศัยชาวประมงจับลูกปูในทะเลแล้วนำมาเพาะเลี้ยง หรือไม่ก็รวบรวมลูกปูจากธรรมชาติแล้วนำไปเลี้ยงในบ่อหรือในกระชังให้โตแล้วค่อยนำไปขาย แต่หลังจากที่ไต้หวันประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูทะเลจากการผสมเทียมแล้ว คาดว่าในอนาคตก็สามารถพลิกสถานการณ์  สามารถทดแทนการนำเข้าปูทะเลจากต่างประเทศที่มีปริมาณสูงถึง 90 %ได้ อีกทั้งเมื่อเพาะพันธุ์ปูทะเลได้แล้ว สามารถปล่อยกลับไปสู่ทะเลคืนสู่ธรรมชาติ ช่วยสร้างระบบนิเวศทางทะเลของไต้หวันให้สมบูรณ์ขึ้นได้ด้วย  นอกจากนี้ ลูกปูที่เกิดจากผสมเทียมนี้ยังสามารถส่งขายต่างประเทศ อย่างเช่น ส่งไปขายญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศยุโรปและอเมริกาได้เช่นกัน

ไต้หวันประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูทะเลผสมเทียม

ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลชี้ว่า ในทุกปี ไต้หวันต้องนำเข้าปูทะเลประมาณ 2,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 400 ล้านเหรียญไต้หวัน จากแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคานำเข้าในช่วง 10 ปีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 50% ยิ่งในช่วงเทศกาลที่ต้องการบริโภคปูทะเลเพิ่มขึ้น ราคาขายปลีกของปูทะเลสูงกว่า 1,000 เหรียญไต้หวันต่อน้ำหนัก 1 ชั่งหรือประมาณ 600 กรัม แถมบางครั้งปูทะเลก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดด้วย เพราะไต้หวันเองเพาะเลี้ยงปูจากธรรมชาติได้เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งวิธีการเพาะเลี้ยงแบบดั้งเดิมก็คือ การจับลูกปูจากปากแม่น้ำแล้วนำมาเพาะเลี้ยงในบ่อ โดยในปี 1991 มีปริมาณการเพาะเลี้ยงแบบนี้มากที่สุดประมาณ 1,241 ตัน คิดเป็นมูลค่าการผลิต 310 ล้านเหรียญไต้หวัน แต่หลังจากนั้นก็มีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อถึงปี 2019 ปริมาณการจับลูกปูธรรมชาติมาเลี้ยงเหลือเพียง 6 ตันเท่านั้น ดังนั้น เพื่อต้องการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปูทะเลแบบใหม่ ตั้งแต่ปี 2015 ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเริ่มใช้เทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปูทะเลแบบใหม่ด้วยการแบ่งช่วงการเลี้ยงเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ การเพาะพันธุ์ชนิดของปู การฟักเป็นลูกปู การเพาะเลี้ยงช่วงกลาง การเพาะเลี้ยงช่วงโตเต็มวัย รวมทั้งการขุนปูให้อ้วนก่อนวางขายตลาด ทั้งนี้ เพื่อต้องการเพาะเลี้ยงลูกปูให้ได้ปริมาณที่คงที่ โดยไม่ต้องไปจับลูกปูจากธรรมชาติมาเลี้ยง ตั้งแต่ปี 2019 ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเริ่มเพาะลูกปูจากการผสมเทียม ปี 2020-2021 ยกระดับการเพาะเลี้ยงและปรับปรุงคุณภาพการเพาะเลี้ยง ขณะเดียวกัน พัฒนาเทคนิคการอนุบาลลูกปู และระบบการเลี้ยงในกล่องที่มีการแยกเป็นเอกเทศ ซึ่งขณะนี้มีการถ่ายโอนสิทธิ์ให้กับผู้ประกอบการหลายเจ้าแล้ว

ไต้หวันประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปูทะเลผสมเทียม

สำหรับในไต้หวันนั้น ตั้งแต่ปี 2020 ทางศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลวางแผนจัดตั้งสถานีเพาะพันธุ์ปูทะเลโดยเฉพาะ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2023 ซึ่งโครงการนี้จะช่วยผลักดันเทคนิคการเพาะพันธุ์ปูผสมเทียม แก้ปัญหาการพึ่งพาการจับลูกปูจากธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงได้ นอกจากนี้ ในปัจจุบันศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลยังพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงที่เหมาะกับไต้หวันโดยเฉพาะ มีการใช้พลังงานสีเขียว มีการใช้กล่องเพาะเลี้ยงที่เป็นเอกเทศ  เป็นต้น เพื่อให้ชาวประมงมีโอกาสเลือกว่าจะเอาเทคนิคการเพาะเลี้ยงแบบไหน ถือว่ามีความหลากหลายวิธีการเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีผู้ประกอบการเลือกเทคนิคการเลี้ยงที่ใช้กล่องเพาะเลี้ยงที่เป็นเอกเทศมากที่สุด แม่ปูแต่ละตัวที่เลี้ยงไว้ในกล่องที่เป็นเอกเทศแล้วใส่ไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต สามารถใส่กล่องที่เป็นเอกเทศได้ 3 แถว เมื่อหักลบต้นทุนแล้วจะได้ผลกำไร 30,000 เหรียญไต้หวัน ส่วนไฟฟ้าที่นำมาใช้เลี้ยงในตู้คอนเทนเนอร์ก็ไม่ต้องซื้อเพิ่ม เพราะมีการตั้งแผงโซลาเซลล์ไว้บนตู้คอนเทนเนอร์และเก็บไฟฟ้าไว้ในหม้อแบตเตอรรี ไฟฟ้าที่ได้นำมาปรับอุณหภูมิของกล่องเลี้ยง ใช้ปรับระบบหมุนเวียนของน้ำ และใช้เป็นไฟส่องสว่าง ถือได้ว่า ผลิตไฟเองใช้เองได้อย่างสบาย นอกจากนี้ กล่องเลี้ยงเอกเทศนี้ยังสามารถเลี้ยงปูนิ่มที่มีขนาดตัวเท่าๆ กันได้อย่างสบายๆ เมื่อนำปูนิ่มไปขายที่ตลาดก็ขายได้ราคาที่สูงอีกด้วย

แม่ปู 1 ตัวอุ้มไข่ 2-4.5 ล้านฟอง หากยกระดับเทคนิคการเพาะพันธุ์ได้สูงขึ้น จะได้ลูกปูจำนวนมาก

การเพาะพันธุ์ปูทะเลด้วยการผสมเทียมเริ่มจากการฟักตัวจนกระทั่งเป็นลูกปู ปัจจุบันมีอัตราการรอดชีวิตเพียง 0.5% เมื่อเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ที่มี 2% ถือว่ายังห่างไกลอยู่อีกช่วงหนึ่ง ทั้งนี้ ประเทศฟิลิปปินส์ใช้วิธีจับลูกปูจากธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ และสิ่งแวดล้อมการจับจากธรรมชาติของฟิลิปินส์ดีกว่า ลูกปูจึงมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงกว่า แม้การเพาะพันธุ์ผสมเทียมของไต้หวันมีอัตราการรอดชีวิตแค่ 0.5% แต่คาดว่าหลังผ่านพ้นไป 3-5 ปี เมื่อมีการยกระดับเทคนิคการเพาะเลี้ยงแล้ว ผลสำเร็จของการเพาะเลี้ยงจะดีขึ้น ที่ผ่านมาเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยได้ทำการเพาะเลี้ยงปูที่จับได้จากธรรมชาติบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำชีกู่เมืองไถหนาน และยังเคยนำเข้าลูกปูจากประเทศฟิลิปปินส์ทดลองเลี้ยง แต่เนื่องจากลูกปูที่นำเข้าจะติดเชื้อได้ง่าย สุดท้ายจึงหาลูกปูธรรมชาติในไต้หวันนำมาทดลอง ค่อยๆ เลี้ยง จนในที่สุดจึงมีโอกาสนำมาผสมเทียม

เป้าหมายแรกของการเพาะพันธุ์ปูทะเลผสมเทียมคือเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti