ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 2 มีนาคม 2564


Listen Later

มารู้จักส้มชีกวาซา (香檬) หน้าตาคล้ายมะนาว กลิ่นหอม สรรพคุณเลิศ เป็นที่สุดผลไม้ตระกูลส้มที่ปลูกในไต้หวันและโอกินาวะเท่านั้น!!

          ส้มซีกวาซา (Shikuwasa) ภาษาจีนเรียกว่า เซียงเหมิง "香檬" ถ้าแปลตรงๆ คือมะนาวหอม แต่จริงๆ ไม่ใช่มะนาวหรือบางคนเรียก "ส้มชีกัวซา" หรือ "ส้มชิคุวาซา-Shikuwasa”เป็นผลไม้ตระกูลส้ม (citrus fruit) ผลส้มมีขนาดเล็ก กลมแป้น มีเปลือกบาง ผลแก่มีเปลือกเขียวเข้มคล้ายมะนาว ผลสุกมีเปลือกสีเหลือง แม้ จะมีความเปรี้ยวมากๆ แต่มีประโยชน์มากมาย มีสารอาหารหลายอย่างที่ถือเป็นเคล็ดลับทำให้อายุยืนยาว จนบางคนเรียกว่า "ยาอายุวัฒนะ" ของคนญี่ปุ่นเลยทีเดียว แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดโอกินาวะของญี่ปุ่นและในไต้หวัน คนโอกินาวะนิยมนำผลแก่ของส้มชนิดนี้มาใช้ปรุงแต่งรสอาหารและนำน้ำส้มมาใช้ประโยชน์มากมาย ส่วนในไต้หวัน แม้นส้มซีกวาซาจะเป็นแหล่งปลูกดั้งเดิมมาก่อน แต่เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีรสขมและเปรี้ยว ทำให้คนไต้หวันไม่นิยมบริโภคและไม่ค่อยรู้จักสรรพคุณตลอดจนการนำไปประกอบอาหาร ทำให้หลายปีที่ผ่านมา เหลือเพียงส้มซีกวาซาที่ขึ้นในป่าในเขา ในพื้นที่ราบแทบจะหาไม่เจอ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน เนื่องจากปริมาณการปลูกส้มซีกวาซาของโอกินาวะไม่เพียงพอ พ่อค้าคนกลางญี่ปุ่นเดินทางมาหาพันธุ์ดั้งเดิมในไต้หวัน ซึ่งขณะนั้นพ่อค้าคนกลางไต้หวันคิดว่าพ่อค้าญี่ปุ่นต้องการส้มจี๊ด จึงไปหานายชิวหย่งฟง (邱永豐) ซึ่งเป็นหัวกลุ่มเกษตรกรปลูกส้มจี๊ดและเป็นประธานสหกรณ์หย่งซิ่น  นายชิวบอกว่า ขณะที่คนญี่ปุ่นมาถามนั้น พวกเรายังไม่รู้เลยว่าส้มซีกวาซาคืออะไร? ยังคิดว่าเป็นส้มจี๊ดสายพันธุ์ใหม่ด้วยซ้ำ และหลังจากที่ส่งข้อมูลกลับไปให้คนญี่ปุ่นดูก็บอกว่าไม่ใช่ และต่อมาชาวญี่ปุ่นได้เดินทางมาไต้หวันด้วยตนเองอีกครั้ง แต่ก็ต้องกลับประเทศด้วยความผิดหวัง

ส้มชีกวาซา(香檬) หน้าตาคล้ายมะนาว กลิ่นหอม สรรพคุณเลิศ

         หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นไปแล้ว ทำให้นายชิวหย่งฟงเกิดความกังขา เกิดรู้สึกในความลึกลับของส้มชนิดนี้เป็นอย่างมาก เขาได้หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตจึงทราบว่า ไม่เพียงแต่ไต้หวันที่มีสายพันธุ์ดั้งเดิมของส้มซีกวาซา ยังพบว่าส้มชนิดนี้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ถือเป็นสุดยอดของพืชตระกูลส้ม นายชิวหย่งฟงมีความคิดว่า ส้มซีกวาซามีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย หากสูญพันธุ์ไปก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก และถ้าหากสามารถฟื้นฟูกลับมาปลูกใหม่ ปลูกในเชิงพาณิชย์ก็คงไม่เลวเลยทีเดียว จึงทำให้นายชิวจากเดิมที่เป็นเกษตรกรปลูกส้มจี๊ดและมะนาวเป็นหลัก ตัดสินใจหันมาหาข้อมูของพันธุ์ส้มซีกวาซาที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว หลังจากนั้นเขาได้สืบถามจากเพื่อนที่อยู่ในป่าในเขา และอีกช่องทางหนึ่งคือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ เขาได้ใช้เวลาเกือบครึ่งปี เพิ่งจะพบตัวอย่างของส้มที่คล้ายคลึงกับส้มซีกวาซา 3 ต้น จากนั้นส่งไปที่สถานีปรับปรุงพันธุ์พืชเขตเกาสง เพื่อวิเคราะห์ว่าเป็นพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่ และหลังจากนั้นได้ใช้เวลาอีก 1 ปีในการเอาส้มตัวอย่าง 1 ต้นจากจำนวน 3 ต้นที่มีอยู่ ทำการเพาะเลี้ยงจนกระทั่งออกดอกออกผล จากนั้นนำส้มตัวอย่างนี้ส่งไปตรวจสอบที่ประเทศญี่ปุ่น ในที่สุดจึงได้ข้อสรุปว่าเป็นพันธุ์ส้มซีกวาซาดั้งเดิมของไต้หวันที่คนญี่ปุ่นต้องการ จากนั้นเขาจึงเริ่มงานเพาะเลี้ยงและวิจัยอย่างเป็นทางการ ปี2006 เขาได้เป็นผู้นำร่องการปลูกส้มชีกวาซาในพื้นที่ 15 เฮกตาร์ ขณะเดียวกันคำนึงถึงสภาพแวดอากาศที่เหมาะต่อการปลูกพันธุ์ดั้งเดิม และต้องทนต่อโรคพืชที่มาทำลายด้วย เขาเลยตัดสินใจปลูกส้มชีกวาซาอินทรีย์ตั้งแต่แรกเริ่มเลย แม้ส้มชีกวาซาจะทนต่อโรคพืชแต่ก็ยังมีแมลงศัตรูทางธรรมชาติซึ่งก็คือด้วงหนวดยาวที่มาทำลายส้มด้วย ซึ่งเขาได้ทดลองด้วยวิธีการต่างๆ มากมายในการป้องกันตามหลักฟิสิกส์ ในที่สุดเขาพบว่า ใช้ถุงเท้าเนื้อฝ้ายหรือแหปลาตาข่ายขนาดเล็กห่อต้นส้มชีกวาซาไว้ เมื่อด้วงหนวดยาวคลานขึ้นไปบนต้นส้มเพื่อวางไข่ ถุงเท้าเนื้อฝ้ายหรือแหปลาตาข่ายเล็กก็จะเกี่ยวขาของด้วงหนวดยาวไว้ ซึ่งวิธีการนี้ช่วยลดจำนวนของด้วงหนาวยาวได้ดี

ใช้แหตาข่ายขนาดเล็กห่อต้นส้มกันด้วงหนวดยาวคลานขึ้นไปวางไข่

         หลังผ่านความพยายาม 3 ปี นายชิวหย่งฟงก็ค่อยๆ หาวิธีการปลูกส้มชีกวาซาที่ลงตัวมากขึ้น ธุรกิจของสหกรณ์หย่งซิ่นก็เลยหันมาทำกิจการที่เกี่ยวกับส้มชีกวาซาเป็นหลัก ส่งเสริมเกษตรกรหันมาปลูกส้มชีกวาซา และมีการทำพันธสัญญากับเกษตรกร ประกันราคาซื้อขาย หากเกษตรกรที่ยินยอมเข้าร่วมโครงการพันธสัญญา ทางสหกรณ์ก็จะไปตรวจสอบสภาพพื้นดินที่ใช้เพาะปลูก แต่ถ้าพบว่าเกษตรกรมีการปลูกพืชอื่นที่ใช้สารเคมีพร้อมๆ กัน นายชิวก็จะขอให้ออกจากกลุ่มสหกรณ์ เพราะเกรงว่าการปลูกพืชอื่นที่มีการใช้สารเคมีอยู่ใกล้ๆ จะสร้างมลภาวะต่อการปลูกส้มด้วย เนื่องจากในอนาคตเขาต้องการให้เกษตรพันธสัญญาปลูกส้มชีกวาซาอินทรีย์ที่มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบแหล่งปลูกได้ ถือเป็นการยืนหยัดคุณภาพและยกระดับธุรกิจการปลูกด้วย ซึ่งไม่เพียงเข้มงวดเกี่ยวกับการปลูกของเกษตรพันธสัญญาเท่านั้น ทางสหกรณ์หย่งซิ่นยังมีการกำหนดเวลาสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง ตรวจดูสารเคมีตกค้างสอดคล้องกับมาตรฐานหรือไม่ และเพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้า นอกจากนั้น ยังช่วยเหลือเกษตรเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการปลูก เช่นการใส่ปุ๋ย การรดน้ำ การเก็บเกี่ยว เป็นต้น ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อสะดวกในการทำงานและยกระดับคุณภาพสินค้า

ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในสายการผลิตคั้นน้ำส้มชีกวาซา

         ส้มชีกวาซาเป็นส้มที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แต่เนื่องจากออกรสขมและเปรี้ยว เพราะฉะนั้นนายชิวหย่งฟงตัดสินใจนำไปแปรรูปตั้งแต่แรกเริ่ม น้ำของส้มชีกวาซาที่คั้นได้ก็จะนำไปขาย เพื่อใช้ในการปรุงอาหารที่หลากหลาย สามารถเพิ่มรสชาติวัตถุดิบเดิมของอาหารได้ดี คนโอกินาวะนิยมบริโภคส้มชีกวาซาเพราะเล็งเห็นว่ามีสารอาหารหลายอย่างถือเป็นเคล็ดลับทำให้อายุยืนยาว นอกจากนั้นแล้ว สหกรณ์หย่งซิ่นยังทุ่มเงินนับสิบล้านสร้างโรงงานแปรรูปอาหารที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 22000 และ HACCP มีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในสายการผลิตคั้นน้ำส้มชีกวาซา ไม่ว่าจะในเรื่องของการล้างทำความสะอาดส้ม การคั้นน้ำส้ม การฆ่าเชื้อ การบรรจุขวด ล้วนมีความเข้มงวดสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า ซึ่งโดยหลักๆ แล้วจะคั้นเป็นน้ำผสมเนื้อส้มขายสู่ท้องตลาด ส่วนเปลือกส้มมักเป็นกากที่นำไปทิ้ง แต่ชิวฉือเหว่ย ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตของชิวหย่งฟงบอกว่า เนื่องจากคุณค่าสารอาหารอยู่ที่เปลือกส้มมากกว่าเนื้อส้ม มีสารโนบิเลติน (Nobiletin) เฮสเพอริดิน(Hesperidin) ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ซึ่งล้วนแต่เป็นแร่ธาตุที่โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารโนบิเลติน (Nobiletin) มีมากที่สุดอันดับ 1 เป็นสารยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งรวมไปถึงการเกิดกระบวนการตายของเซลล์มะเร็ง จึงช่วยชะลอความชรา มีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)ที่มากกว่าส้มชนิดอื่นๆ ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ  ป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อร่างกายเสื่อมหรือถูกทำลาย เสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย หัวใจ และหลอดเลือด ลดคลอเสเตอรอลในเลือด  หากทิ้งเปลือกไปโดยไม่ใช้ประโยชน์ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะฉะนั้น ในเวลาต่อมามีการพัฒนาใช้เทคนิกการคั้นทั้งเปลือกที่ไม่ให้มีรสขมฝาด ซึ่งจากช่วงเริ่มต้นที่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เช่น ถุงชาส้มชีกวาซาที่ใช้ชงดื่ม ผงส้มชีกวาซา ผลไม้แห้ง ขนมชีสเค้ก ป๊อปคอร์น ชีสเส้น เป็นต้น จนทุกวันนี้ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ชิวฉือเหว่ย บอกว่า ปีที่แล้วทางสหกรณ์ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยปศุสัตว์(Livestock Research Institute)คณะกรรมการการเกษตร นำเศษที่เหลือจากการคั้นส้มชีกวาซา พัฒนาเป็นวัตถุดิบที่เติมในอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบริษัทไบโอเทคโนโลยี บริษัทผลิตครีมบำรุงผิว บริษัทอาหาร ซึ่งขณะนี้มีการร่วมมือกับบริษัทไบโอเทคและบริษัทผลิตครีมบำรุงผิว พัฒนาเป็นสินค้าบำรุงสุขภาพ สินค้าบำรุงผิว อย่างเช่น ครีมอาบน้ำ โลชั่น เป็นต้น ส่วนในด้านการร่วมมือกับบริษัทผลิตอาหารนั้น ขณะนี้ได้พัฒนาเป็นถุงซอสปรุงรสของปลาเก๋ามังกรแช่แข็ง ที่ผู้บริโภคสามารถนำไปอุ่นร้อนและรับประทานได้เลย ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ล้วนแต่เป็นการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้ส้มชีกวาซา ที่สามารถเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความอร่อยของผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันคนไต้หวันที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพก็นิยมบริโภคเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ส้มชีกวาซามีวางขายในประเทศและยังส่งออกไปขายต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และฮ่องกงด้วย

ผลิตภัณฑ์ส้มชีกวาซา

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti