ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 22 มี.ค.2565


Listen Later

โครงการจัดรถเคลื่อนที่ของสถาบันวิจัยป่าไม้ไต้หวัน เพื่อหาพืชท้องถิ่นที่ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย

ไต้หวันเป็นประเทศที่มีสภาพเป็นเกาะ มีพื้นที่ 36,000 ตร.กม.สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปเป็นแบบเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน มีพันธุ์พืชความหลากหลายชนิด และมีพืชจำนวนไม่น้อยที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ เพื่อต้องการพัฒนาธุรกิจน้ำมันหอมระเหยที่ใช้พืชในท้องถิ่น สถาบันวิจัยป่าไม้ไต้หวัน(Taiwan Forestry Research Institute) ได้เลียนแบบวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยในต่างประเทศ จัดรถเคลื่อนที่(Mobile Plant) พร้อมอุปกรณ์ติดตั้งที่ใช้ในการกลั่นน้ำมันหอมระเหยไปในเขตชนบทต่างๆ โดยโครงการนี้ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ช่วงดำเนินโครงการ มีเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยป่าไม้ขับรถไปยังพื้นที่ 4 แห่งในไต้หวัน ได้แก่ เมืองไถตง อี๋หลาน นครนิวไทเป และหนานโถว

ประชาชนมีส่วนร่วมในการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่นำมาจากพืชท้องถิ่น

น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil-精油) คือน้ำมันที่พืชสร้างขึ้นและเก็บไว้ในส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ดอก ใบ ผล ลำต้น หรือเมล็ด มีความแตกต่างกันไปในพืชแต่ละชนิด คุณสมบัติที่เด่นชัดคือมีกลิ่นหอมและระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิปกติ  ปริมาณและคุณภาพขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อย่างเช่น สภาพดิน ภูมิอากาศ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความสูงจากระดับน้ำทะเล การเก็บเกี่ยว ตลอดจนเทคนิคและวิธีการสกัด เพราะฉะนั้น วัตถุดิบที่เป็นพืชที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยจึงต้องใช้จำนวนมาก วัตถุดิบจากพืชน้ำหนัก 1 กิโลกรัม สกัดได้น้ำมันหอมระเหยไม่ถึง 5 กรัม การเสาะหาพืชที่เหมาะในการเป็นวัตถุดิบเพื่อสกัดน้ำมันหอมระเหยก็จะต้องใช้ต้นทุนในการขนส่งมาก ดังนั้น ทางสถาบันวิจัยป่าไม้ไต้หวันจึงใช้แนวความคิด  “ห้องทำงานเคลื่อนที่” โดยใช้รถบรรทุกเล็กติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องกลั่นไปยังพื้นที่ต่างๆของไต้หวัน เพื่อหาพืชที่เหมาะในการนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย

เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยป่าไม้เยี่ยมเยือนชาวบ้าน ร่วมสนทนา แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

เยี่ยรั่วหยุน(葉若鋆) ผู้ช่วยวิจัยของสถาบันป่าไม้บอกว่า การหาพืชที่เหมาะต่อการนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย สามารถทำงานร่วมมือกับชาวบ้านในท้องถิ่น ขณะเดียวกันถือโอกาสไปเยี่ยมเยือนชาวบ้าน พูดคุยสนทนากับชาวบ้าน แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และแนะนำวิธีการผลิตน้ำมันหอมระเหยด้วย ซึ่งโครงการสกัดน้ำมันหอมระเหยเคลื่อนที่นี้เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ภายหลังจากภาวะการระบาดของ covid คลี่คลายลง เจ้าหน้าที่ของรถเคลื่อนที่สกัดน้ำมันหอมระเหยได้ติดต่อไปยังชุมชน ยกตัวอย่าง ที่บึงซวงเหลียนของเมืองอี๋หลาน พบพืชชนิดหนึ่งที่เป็นพืชสมุนไพรที่ชาวบ้านนำมาแช่เท้า เป็นประเภทหญ้าขมใบย่น ที่จัดอยู่ในวงศ์กะเพราหรือวงศ์มินต์ ชาวบ้านเรียกพืชชนิดนี้ว่า “หญ้าเฟ่ยจื่อ痱子草” และยังมีดอกดาวเรืองที่ปลูกอยู่ในฟาร์มส่วนตัว” NonzeroFarm”ของเมืองไถตง รวมทั้งต้นการบูรในชุมชน Kalibuan卡里布鞍 ของเมืองหนานโถว อีกทั้งสนซีดาร์ญี่ปุ่นที่อยู่ในแหล่งปลูกชาผิงหลินของนครนิวไทเป สำหรับการไปเยี่ยมเยือนท้องถิ่นทั้ง 4 แห่งนั้น เจ้าหน้าที่วิจัยของสถาบันวิจัยป่าไม้ได้หยุดพักในที่ต่างๆ ประมาณ 1 - 2 วัน เพื่อทำการคัดเลือก รวบรวมวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย

สถาบันวิจัยป่าไม้คาดหวังให้ใช้พืชที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยไม่จำกัดเฉพาะพืชที่ได้จากการเพาะปลูกเท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนให้ใช้กิ่งก้านของพืชนำมาเป็นวัตถุดิบในการสกัดด้วย ยกตัวอย่าง หญ้าเฟยจื่อซึ่งเป็นสมุนไพรที่คนในท้องถิ่นรู้จักกันดีและยังคุ้นเคยกับการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ต้นสนซีดาร์ที่ชาวบ้านปลูกไว้ริมถนนก็ยังสามารถนำมาสกัดได้ ทั้งนี้ น้ำมันหอมระเหยมีความสำคัญต่อวงการอุตสาหกรรมในวงกว้าง ไม่ว่าจะด้านอาหาร เครื่องสำอางบำรุงผิวพรรณ รวมทั้งสปา ฯลฯ ล้วนต้องการใช้น้ำมันหอมระเหยมาช่วยปรุงแต่งกลิ่นผลิตภัณฑ์ ยิ่งถ้าเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากพืช มาจากธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีก็ยิ่งมีประโยชน์ยิ่งนัก

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti