ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 23 เม.ย.2567


Listen Later

   วานิลลาซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "ราชินีแห่งเครื่องเทศ" เป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงเป็นอันดับ 2 ของโลก (อันดับ 1 คือ Saffron หรือ หญ้าฝรั่น) ด้วยความที่วานิลลามีกลิ่นหอมหวานไม่เหมือนใคร ปลูกยาก และยังต้องมีกรรมวิธีการบ่ม เพื่อดึงกลิ่นออกมาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่สวนวานิลลาซานเหอย่วน(三合院香草園)เขตซินอู และวานิลลาที่ปลูกโดย เฉินจิ่นเชา(陳錦超) ประธานสมาคมอนุรักษ์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติเมืองผิงตง ซึ่งพื้นที่ปลูกวานิลลาทั้ง 2 แห่งได้รับการแนะนำการปลูกจากสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเขตเถาหยวน ทำให้ช่วงสองปีที่ผ่านมา วานิลลาที่ปลูกได้ทั้ง 2 แห่ง ล้วนได้รับคะแนนสูงสุด 3 ดาว จากสถาบันประเมินรสชาตินานาชาติแห่งเบลเยียม (International Taste Institute :iTQi)

สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเขตเถาหยวน ร่วมกับ ม.ฝู่เหริน จัดทำ วงล้อรสชาติวานิลลา

   สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเขตเถาหยวนวิเคราะห์ว่า ฝักวานิลลาที่ปลูกในไต้หวันมีปริมาณวานิลลินสูงกว่านำเข้าถึง 50% และยังมีกลิ่นหอมหวานกว่าวานิลลาที่นำเข้าด้วย อย่างไรก็ตาม ราคาการค้าของฝักวานิลลามีความผันผวนอย่างมาก ตั้งแต่ 4,500 ถึง 10,500 เหรียญไต้หวันต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกในไต้หวันอยู่ที่ประมาณ 20,000-40,000 เหรียญไต้หวันต่อกิโลกรัม วานิลลา 1 ฝักอาจมีราคาสูงถึง 200 เหรียญไต้หวัน ซึ่งถือว่าแพงมาก เยี่ยจื้อซิน(葉志新)ผู้ช่วยวิจัยของสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเขตเถาหยวน บอกว่า หากไม่รวมวานิลลาซอส วานิลลาสกัด ผงวานิลลา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่หลากหลาย ถ้าเป็นช่วงพีคของการใช้วานิลลาจะมีการนำเข้ามากถึง  6 ตันต่อปี

วงล้อรสชาติวานิลลา

   สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเถาหยวนเริ่มรวบรวมและขยายพันธุ์วานิลลา อีกทั้งพัฒนาเทคนิคการเพาะปลูก ตั้งแต่ปี 2006  จนถึงขณะนี้ พื้นที่ปลูกในประเทศมีมากกว่า 30 เฮกตาร์ มีผลผลิตฝักสด 50 - 60 ตัน สามารถแปรรูปเป็นวานิลลาฝัก 10 - 12 ตัน มีมูลค่าประมาณ 200-400 ล้านเหรียญไต้หวัน ฟู่หยั่งเหริน(傅仰人)รองผู้อำนวยการสถานีวิจัยฯ บอกว่า การที่สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเถาหยวนผลักดันโครงการปลูกวานิลลาเพื่อคาดหวังใช้ทดแทนการนำเข้า เพราะฝักวานิลลามีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก และหวังว่าจะกลายเป็นอุตสาหกรรมฟาแลนนอปซิสแห่งที่สองของไต้หวัน

วานิลลาสดที่ยังไม่แปรรูปจะไม่มีกลิ่นหอม

    เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจรสชาติพิเศษของฝักวานิลลาในไต้หวันมากขึ้น สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับ หลี่ชิงซง(李青松) หัวหน้าภาควิชาศิลปะการประกอบอาหารและการโรงแรม ม.ฝู่เหริน เชิญผู้ประเมินโกโก้ กาแฟ ไวน์แดง ฯลฯ ทำการประเมินทางประสาทสัมผัสโดยอิงจากวรรณกรรมนานาชาติ จัดทำ"วงล้อรสชาติวานิลลา" เพื่อระบุรสชาติ ความหอมหวาน กลิ่นผลไม้ กลิ่นดอกไม้ หลักๆ ของฝักวานิลลาในไต้หวัน

ขนมหวานที่ใส่วานิลลาจากธรรมชาติจะหอมอร่อย

    ทั้งนี้ฝักวานิลลาสดต้องเตรียมและแปรรูปเป็นเวลาครึ่งปีจึงจะกลายเป็นฝักวานิลลาที่มีกลิ่นหอมและนำมาใช้ปรุงอาหารได้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรยังได้ร่วมมือกับเกษตรกรและบริษัทอบขนม จัดตั้ง "บริษัทวานิลลาแห่งไต้หวัน" เพื่อช่วยในการแปรรูปฝักวานิลลาในประเทศ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นทดลอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้นำวานิลลาฝักสดมาใช้ประมาณ 1,500 กิโลกรัมในช่วงฤดูกาลแรก และทางสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรยังได้ส่งเสริมให้แกรนด์ โฮเต็ล ในไทเป นำวานิลลาไปใช้ทำขนมหวานในงานเลี้ยงของรัฐด้วย      

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti