ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 24 ก.ย.2567


Listen Later

   ไต้หวันถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกหน้าวัวตัดดอกขายมากที่สุดในโลก แต่ต้องเผชิญกับปัญหาการนำเข้าต้นกล้าจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีต้นทุนสูง และบางพันธุ์อาจปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศในไต้หวันไม่ดี ส่งผลให้คุณภาพของดอกหน้าวัวไม่เสถียร ด้วยเหตุนี้ สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเขตเกาสงจึงได้ลงทุนพัฒนาพันธุ์ดอกหน้าวัวภายในประเทศ จนสามารถพัฒนาพันธุ์ “หน้าวัวเกาสง เบอร์ 3 ถึง เบอร์ 6” ได้สำเร็จ โดยพันธุ์ที่พัฒนานี้มีจำนวนก้านดอกเฉลี่ยมากกว่าพันธุ์ที่นำเข้า 1 ก้าน ซึ่งช่วยให้เกษตรกรที่ปลูกหน้าวัวในพื้นที่ 1 เฟิน(1 เฟิน เท่ากับ 969.917 ตร.เมตร) มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 90,000 เหรียญไต้หวันเมื่อเทียบกับพันธุ์นำเข้า

หน้าวัวหงซิง(ซ้าย) หน้าวัวหงหลิง(ขวา)

   ปัจจุบัน หน้าวัวตัดดอกพันธุ์ที่พัฒนาในประเทศมีสัดส่วนการปลูกประมาณ 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ สัดส่วนการปลูกพันธุ์ที่พัฒนาในไต้หวันจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมด สำหรับพื้นที่เพาะปลูกหน้าวัวในไต้หวันมีมากถึง 141 เฮกตาร์ โดยกระจายอยู่ในนครไถหนาน นครเกาสง หนานโถว ผิงตง และนครไทจง ผลผลิตหน้าวัวตัดดอกต่อปีมีมากกว่า 13 ล้านดอก คิดเป็นมูลค่าผลผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมประมาณ 200 ล้านเหรียญไต้หวัน ในจำนวนนี้มีการส่งออกหน้าวัวตัดดอกประมาณ 6.4 ล้านดอก โดยตลาดหลักคือญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 98% ของตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้ หน้าวัวจากไต้หวันยังถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ดูไบ และอื่น ๆ

   สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรได้ทุ่มเทพัฒนาพันธุ์หน้าวัวตัดดอกมาเกือบ 20 ปี และประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ "เกาสง เบอร์ 3 - หงหลิง (紅鈴) ", "เกาสง เบอร์ 4 - หงซิง (紅星) ", "เกาสง เบอร์ 5 – วีนัส (維納斯)" และ "เกาสง เบอร์ 6 - โมนาลิซ่า (蒙娜麗莎)" รวมทั้งหมด 4 สายพันธุ์ โดยเฉพาะพันธุ์ "หงหลิง" ที่เพาะพันธุ์ในปี 2017 สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศได้ถึง 20.9% และส่วนแบ่งในตลาดหน้าวัวตัดดอกในต่างประเทศสูงถึง 7.5%

หวงหย่าหลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยหน้าวัวตัดดอก

   หวงหย่าหลิง (黃雅玲) ผู้ร่วมวิจัยสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเขตเกาสง และหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรที่โดดเด่นที่สุดของปี 2024 กล่าวว่าถ้าหน้าวัวแต่ละต้นสามารถออกดอกได้มากกว่า 6 ดอก ถือว่าเป็นพันธุ์ดีเลิศ สำหรับหน้าวัวพันธุ์ "หงหลิง" ที่พัฒนาโดยไต้หวันเองนั้น สามารถออกดอกได้เฉลี่ย 6.7 ดอกต่อต้น ขณะที่ต้นกล้าหน้าวัวที่นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์เมื่อนำมาปลูกในสภาพอุณหภูมิ 26°C ของไต้หวัน จะพบว่าในช่วงหน้าหนาวที่อุณหภูมิต่ำจะไม่ออกดอก และในช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงอาจเกิดปัญหาการเจริญเติบโต ทำให้พันธุ์นำเข้ามีค่าเฉลี่ยการออกดอกน้อยกว่าพันธุ์ของไต้หวันต้นละ 1 ดอก

   หากยกตัวอย่างการปลูกหน้าวัว 7,000 ต้นในพื้นที่ขนาด 969.917 ตารางเมตร ดอกหน้าวัวพันธุ์ไต้หวันจะให้ผลผลิตมากกว่า 7,000 ดอก ซึ่งเมื่อคำนวณจากราคาเฉลี่ยที่ 12.6 เหรียญไต้หวันต่อดอก ดอกหน้าวัวพันธุ์ไต้หวันจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 88,000 เหรียญไต้หวัน ไต้ซุ่นฟา (戴順發) ผู้อำนวยการสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเขตเกาสง กล่าวว่า ต้นกล้าหน้าวัวนำเข้ามีราคา 50 เหรียญไต้หวันต่อต้น ขณะที่ต้นกล้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในไต้หวันมีราคาเพียง 15 เหรียญไต้หวันต่อต้น และต้นกล้าแยกกิ่งมีราคา 25 เหรียญไต้หวันต่อต้น ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้อย่างมีนัยสำคัญ

หน้าวัวตัดดอกสีแดงยังเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูง

   พันธุ์หน้าวัวของไต้หวันมีหลากหลายสี เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ หวงหย่าหลิงกล่าวว่า พันธุ์ "หงหลิง紅鈴 " และ "หงซิง紅星 " ได้รับสิทธิ์ของสายพันธุ์แล้ว ส่วน "維納斯 วีนัส" และ "蒙娜麗莎 โมนาลิซา" กำลังอยู่ในกระบวนการขอสิทธิ์ นอกจากนี้ สถานีวิจัยฯ ยังได้พัฒนาพันธุ์หน้าวัวใหม่ถึงเบอร์ 13 แล้ว และคาดว่าจะทยอยออกสู่ตลาดในอนาคต จึงหวังให้พื้นที่การปลูกหน้าวัวในไต้หวันเลือกใช้พันธุ์ที่พัฒนาในประเทศมากขึ้น

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti