ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 25 ก.พ.2568


Listen Later

   ชื่อเสียงของปลาสดจากเขื่อนสือเหมินเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดผู้บริโภค รวมถึงปัญหาขาดแคลนพันธุ์ปลา อย่างไรก็ตาม เมื่อคนรุ่นใหม่หวนกลับมายังบ้านเกิดและเข้าร่วมกลุ่มผลิตและจำหน่าย พวกเขาได้ริเริ่มแนวทางใหม่ๆ เช่น การแปรรูปเนื้อปลา และการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคปลา เพื่อให้ปลาน้ำจืดสามารถเป็นอาหารบนโต๊ะได้อย่างยั่งยืน

ปลาหัวโตเป็นปลาเศรษฐกิจจากเขื่อนสือเหมิน แต่ปัจจุบันเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพันธุ์ปลา

   สำหรับประวัติความเป็นมาของการจับปลาในเขื่อนสือเหมินนั้นต้องบอกว่า “ไม่เหมือนใคร” เพราะเป็นอุตสาหกรรมประมงเพียงหนึ่งเดียวใน “เขื่อนเก็บน้ำ” ของไต้หวัน ซึ่งการจับปลาในเขื่อนสือเหมิน หลายคนอาจสงสัยว่าทำได้อย่างไร เพราะปกติแล้วที่นี่ไม่อนุญาตให้ตกปลา แล้วเหตุใดจึงมีชาวประมงจับปลาภายในเขื่อน? หลิวเหวินเสียง(劉文翔) สมาชิกของกลุ่มผลิตและจำหน่ายปลาซ่งหรือปลาหัวโต รุ่นที่ 2บอกว่า บริเวณที่ตั้งของเขื่อนสือเหมินเดิมเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวฮกเกี้ยน ชาวฮากกา และชนพื้นเมืองไต้หวัน ซึ่งตั้งรกรากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และดำรงชีพด้วยการจับปลาน้ำจืด เช่น ปลาอายุ หรือ เซียงอวี๋ (年魚, 香魚) และตกปลาเพื่อยังชีพ แต่หลังจากรัฐบาลสาธารณรัฐจีนอพยพมายังไต้หวัน ชาวประมงท้องถิ่นได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมประมงเขตต้าซี อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการก่อสร้างเขื่อนสือเหมิน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิมถูกบังคับให้ย้ายออก และสมาคมประมงต้าซีก็ต้องยุบตัวลง ส่งผลให้ชาวประมงต้องเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมประมงเมืองเถาหยวนแทน

   เกาหมิง พ่าซัง(高明‧帕桑) เจ้าหน้าที่พิเศษจากสำนักงานเกษตรเมืองเถาหยวน บอกว่า ครัวเรือนที่ถูกบังคับให้ย้ายออกในขณะนั้นสามารถยื่นขออนุญาตทำการประมงต่อไปได้ตามกฎระเบียบ “ข้อกำหนดว่าด้วยการจับสัตว์น้ำและปลาในเขื่อนสือเหมิน”และต่อมาได้มีการก่อตั้งกลุ่มผลิตและจำหน่ายปลาหัวโต ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประมงไม่กี่แห่งที่สามารถดำเนินกิจการในเขื่อนเก็บน้ำได้
   ด้วยประวัติความเป็นมาที่ไม่เหมือนใครนี้ ทำให้ชาวประมงที่เขื่อนสือเหมินต้องทำงานภายใต้ "เจ้านายสองคน" โดยในด้านการจัดจำหน่ายและการอัปเดตอุปกรณ์ทำประมง อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมประมงเมืองเถาหยวน ขณะที่การควบคุมการจับปลา อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาคเหนือ นอกจากนี้ ชาวประมงยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการจับปลาและประสานงานกับการดำเนินงานของเขื่อน เช่น เมื่อเขื่อนมีแผนที่จะใช้เรือขุดลอกตะกอน ชาวประมงต้องเร่งเก็บอวนของตนเพื่อป้องกันไม่ให้อวนถูกทำลายโดยเรือขุดลอก

การจับปลาในเขื่อนสือเหมินต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบของเขื่อน

   การจับปลาในเขื่อนเก็บน้ำจะทำให้เกิดมลภาวะของน้ำในเขื่อนหรือไม่? หลิวเหวินเสียง(劉文翔) สมาชิกของกลุ่มผลิตและจำหน่ายปลาซ่งหรือปลาหัวโต รุ่นที่ 2 ชี้ว่า ตามข้อกำหนดของ "แนวทางการจับปลาในเขื่อนเก็บน้ำสือเหมิน" ชาวประมงสามารถจับปลาได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด โดยใช้แหที่มีขนาดช่องตาข่ายใหญ่เพื่อล่าปลาตัวเต็มวัย และห้ามใช้เหยื่ออาหารหรือสารเคมีใด ๆ ซึ่งหมายความว่าปลาเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์

   สวีเซิ่งต๋า(徐盛達) หัวหน้ากลุ่มผลิตและจำหน่ายปลาหัวโตกลุ่มที่ 2 บอกว่า เขื่อนเก็บน้ำสือเหมินห้ามเลี้ยงปลาโดยเด็ดขาด มีเพียงหน่วยงานที่ได้รับอนุญาต เช่น สำนักงานเขตเหนือของการประปาและสมาคมประมงเขตเถาหยวน เท่านั้น ที่สามารถปล่อยพันธุ์ปลาได้ อีกทั้งมีการจำกัดจำนวนชาวประมงที่ได้รับอนุญาตให้จับปลาในเขื่อนเก็บน้ำได้สูงสุดเพียง 72 คน นอกจากนี้ยังมีกฎว่าห้ามชาวประมงฆ่าหรือขายปลาโดยตรงที่ริมเขื่อนกักเก็บน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำปนเปื้อน
   หลิวเหวินเสียง กล่าวเน้นว่า เนื่องจากคุณภาพน้ำในเขื่อนเก็บน้ำค่อนข้างคงที่ และมีปลาหัวโตช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ ดังนั้น ปลาน้ำจืดจากเขื่อนสือเหมินจึงแทบไม่มี "กลิ่นดิน" ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักเลือกปลาจากเขื่อนเก็บน้ำสือเหมินเพราะมีชื่อเสียงด้านความสดอร่อย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปลาจากอ่างเก็บน้ำสือเหมินจะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ร้านอาหารที่โฆษณาขายปลาสดจากสือเหมิน บางร้านอาจไม่ได้ใช้ปลาที่จับจากเขื่อนเก็บน้ำจริง ดังนั้น ชาวประมงสือเหมินจึงรวมตัวกันจัดตั้ง กลุ่มผลิตและจำหน่ายปลา โดยบางคนที่เปิดร้านอาหารเองจะแสดงบัตรประจำตัวชาวประมง ไว้ในร้าน เพื่อรับรองว่าใช้วัตถุดิบแท้จากเขื่อนสือเหมิน รวมถึงรับซื้อปลาจากกลุ่มผลิตและจำหน่ายโดยตรง เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าได้ลิ้มรส "ปลาจากเขื่อนสือเหมินแท้"

ปลาที่จับได้จากเขื่อนมีความสดมาก

   การจับปลาในเขื่อนสือเหมินอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวด เช่น กำหนดพื้นที่จับปลา ห้ามใช้เหยื่ออาหารหรือสารเคมี และจำกัดจำนวนชาวประมง เพื่อรักษาคุณภาพน้ำและระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม ชาวประมงเผชิญความท้าทาย เช่น จำนวนปลาลดลง เนื่องจากสำนักงานเขตเหนือของการประปาล้มเหลวในการประมูลปล่อยลูกปลา ชาวประมงจึงมีแผนเรียกร้องผ่านแพลตฟอร์มสาธารณะ เพื่อผลักดันให้เพิ่มจำนวนลูกปลาและปรับปรุงช่องทางสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti