ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 26 พ.ย.2567


Listen Later

   การตระหนักถึงความปลอดภัยทางอาหารและการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ชาวนาปลูกข้าวในภาคตะวันตกจำนวนมากอยากหันมาปลูกข้าวออร์แกนิก แต่ต้องล้มเลิกความตั้งใจเพราะปัญหาการกำจัดวัชพืช หยางจื้อเจ๋อ(楊智哲) ผู้ช่วยวิจัยจากสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเขตไถหนาน สาขาลู่เฉ่า บอกว่า การเปลี่ยนมาปลูกข้าวออร์แกนิก ชาวนายังพอใช้วัสดุป้องกันและการจัดการแปลงเพื่อควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชได้ แต่ปัญหาคือมีวัสดุสำหรับจัดการวัชพืชน้อยมาก อีกทั้งในช่วงต้นของการเพาะปลูก วัชพืชเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้การควบคุมวัชพืชเป็นเรื่องที่ลำบากที่สุด ทั้งนี้ การกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้งยังขาดแคลนแรงงาน บางครั้งชาวนาจึงใช้วิธีปล่อยน้ำในนาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืช แต่หากพื้นที่เพาะปลูกมีแหล่งน้ำจำกัดหรือมีภูมิประเทศที่ไม่ราบเรียบ วิธีนี้จะไม่ได้ผลดี และการปล่อยน้ำในระยะยาวก็ยังทำลายระบบรากของต้นกล้าด้วย ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ชาวนาจึงต้องการวิธีการกำจัดวัชพืชที่ดีกว่านี้

แผ่นกระดาษป้องกันไม่ให้วัชพืชแย่งสารอาหารกับพืชหลัก และย่อยสลายเองได้

   จางเหย้าอวี้(張耀裕) เลขาธิการสมาคมเกษตรตำบลโต่วหนาน อธิบายว่า สมาคมฯ ต้องการส่งเสริมข้าวออร์แกนิกในเมืองหยุนหลิน ไม่เพียงแต่ร่วมมือกับชาวนา แต่ยังเช่าพื้นที่ประมาณ 8 เฟิน( 7,759 ตร.เมตร) เพื่อผลิตข้าวออร์แกนิก ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือวัชพืชในนา เจ้าหน้าที่ทั้งหมดต้องมาช่วยกันกำจัดวัชพืชแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เขาลองใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การปล่อยน้ำและใช้เครื่องตัดหญ้า แต่ก็ยังไม่ได้ผล เขากล่าวว่า "แค่คิดเรื่องการกำจัดวัชพืชก็รู้สึกหนักใจแล้ว!"

   ซูเสวี่ยลี่(蘇雪莉) หัวหน้ากลุ่มผลิตและจำหน่ายผักกลุ่มที่ 2 ในเขตหลิ่วอิ๋ง เมืองไถหนาน กล่าวว่าฟาร์มของเธอปลูกข้าวออร์แกนิกบนพื้นที่ประมาณ 1 เฮกตาร์ในช่วงที่สองของการเพาะปลูก แต่ต้องจ่ายเงินมากกว่า 50,000 เหรียญไต้หวันในการจ้างแรงงานเพื่อกำจัดวัชพืชทุกครั้ง ซึ่งวัชพืชเองก็แย่งสารอาหารจากต้นกล้า ทำให้การปลูกข้าวยิ่งเป็นภาระมากขึ้นเรื่อย ๆ เธอกล่าวว่า "บางทีก็อยากเลิกปลูกข้าวไปเลย"

แปลงนาข้าวออร์แกนิกที่ปูด้วยแผ่นกระดาษคลุมดิน วัชพืชลดลง และต้นข้าวเติบโตดี

   เพื่อช่วยลดการใช้แรงงานในการกำจัดวัชพืช กระดาษคลุมดินแบบย่อยสลายได้จึงกลายเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับชาวนาข้าวออร์แกนิก หยางจื้อเจ๋ออธิบายว่าหลักการของกระดาษคลุมดินคือการยับยั้งวัชพืชโดยการปิดกั้นแสงแดดและมีคุณสมบัติให้อากาศผ่านได้ ทำให้เมล็ดวัชพืชงอกช้าลง หรือหากงอกแล้วก็จะเติบโตไม่ดี ทำให้ต้นกล้าเติบโตได้เร็วกว่าวัชพืช ซึ่งก่อนหน้านี้ การใช้พลาสติกคลุมดินในนาข้าวเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะต้องใช้เวลาในการติดตั้งและเก็บคืน ขณะที่กระดาษคลุมดินจะค่อย ๆ ย่อยสลายในนาเอง ช่วยลดภาระในการจัดการ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในนาข้าวออร์แกนิก ทั้งนี้ ในญี่ปุ่นมีผลิตภัณฑ์กระดาษคลุมดินหลายแบบสำหรับใช้ในนาข้าวออร์แกนิก 

   หากในญี่ปุ่นมีกระดาษคลุมดินใช้แล้ว เหตุใดไต้หวันจึงยังไม่มีเกษตรกรใช้? หยางจื้อเจ๋ออธิบายว่าปัญหาหลักคือเรื่อง "ต้นทุน" โดยที่ผ่านมายังไม่มีการผลิตกระดาษคลุมดินในประเทศ และยังไม่มีเครื่องจักรในการช่วยติดตั้ง ชาวนาจึงต้องใช้กระดาษคลุมดินนำเข้าพร้อมติดตั้งด้วยแรงงานคน ทำให้ต้นทุนสูงเกินไปโดยไม่ช่วยลดแรงงานในการกำจัดวัชพืช 

กระดาษคลุมดินกันวัชพืชของ บ. Cheng Long Paper

   อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บริษัทต่าง ๆ เช่น Cheng Long Paper(正隆), Chung Hwa Pulp(中華紙漿) และ Chang Hung Special Paper(長鴻特殊紙業) ได้เริ่มผลิตกระดาษคลุมดินเพื่อการเกษตร และมีการนำเข้ารถปลูกต้นกล้าที่สามารถคลุมกระดาษคลุมดินได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้และลดแรงงานในการติดตั้ง อีกทั้งสำนักงานการเกษตรและอาหารยังมีเงินสนับสนุนช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการซื้อและติดตั้งกระดาษคลุมดิน กรมการเกษตรและอาหารไถหนานยังได้ทำการวิจัยและส่งเสริมการใช้กระดาษคลุมดินในนาข้าวออร์แกนิกเพื่อช่วยกระตุ้นให้ชาวนาข้าวออร์แกนิกหันมาใช้กระดาษคลุมดินเพื่อควบคุมวัชพืช

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti