ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 27 ก.ย.2565


Listen Later

      รายการในครั้งนี้ ขอแนะนำการปลูกอะบิวของเกษตรกรท่านหนึ่งชื่อ อิ๋นฉี่ตง(鄞啟東) ที่ทำเกษตรเชิงนิเวศ มีการเลี้ยงจระเข้ สัตว์เลี้ยงน่ารัก เช่น เต่า กระต่าย แพะ ไก่ และยังปลูกอะบิวไว้ในฟาร์มด้วย เพื่อให้คนที่เข้าไปชมฟาร์มมีความใกล้ชิดกับสัตว์และพืช ปลุกจิตสำนึกรักผืนแผ่นดินที่อาศัย ซึ่งคุณอิ๋นฉี่ตง สมัยยังหนุ่มเป็นคนชอบผจญภัย ในยุคที่อดีตประธานาธิบดีหลี่เติงฮุยมีนโยบายส่งเสริมด้านการเกษตร เรียกร้องให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิดเพื่อพัฒนาการเกษตร จึงตัดสินใจลาออกจากงาน กลับบ้านเกิดที่ตำบลเฉาโจว เมืองผิงตง รับช่วงทำเกษตรของที่บ้าน ในช่วงแรก เริ่มประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ต่อมาเลี้ยงสุกรและจระเข้ เหตุที่เลี้ยงจระเข้ก็เพื่อแก้ปัญหารกหมูที่ต้องการทิ้ง ใช้ห่วงโซ่ธรรมชาติในการกำจัดรกหมู แต่ในปี 1997 ไต้หวันเกิดการระบาดโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ ส่งผลธุรกิจการเลี้ยงหมูย่างมาก เขาเลยตัดสินใจขายหมูสุขภาพดีทั้งหมด หันมาเลี้ยงจระเข้อย่างเดียว และมีการปรับให้เป็นฟาร์มเกษตรเชิงท่องเที่ยว ประกอบกับช่วงที่หาความรู้ด้านเกษตรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีผิงตง ทางมหาวิทยาลัยส่งเสริมให้ปลูกผลไม้หน้าร้อน โดยหนึ่งในจำนวนนี้มีผลไม้ที่ชื่ออะบิวอยู่ด้วย จึงหันมาปลูกอะบิว เพราะคิดว่าเป็นผลไม้แปลกใหม่

คุณอิ๋นฉี่ตง เจ้าของฟาร์มเกษตรเชิงนิเวศ

      อะบิว(Abiu) ภาษาจีนเรียกว่า “หวงจินกั่ว黃金果” เป็นผลไม้ชนิดใหม่ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ผลสุกมีรูปลักษณ์สวย เหลืองอร่าม รสชาติหอมอ่อนๆ หวาน เนื้อละมุน อร่อย เนื้อสัมผัสคล้ายเจลลี่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ราคาแพง มีวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตาได้ดี มีถิ่นกำเนิดในเขตป่าดิบชื้นในอเมริกาใต้ เดิมเป็นผลไม้ผลเล็กๆ ในปี 1980 สถาบันวิจัยการเกษตรนำเข้ามาปลูกในไต้หวัน หลังผ่านการปรับปรุงพันธุ์และวิธีการปลูกหลายครั้ง ปัจจุบันกลายเป็นผลไม้ผลใหญ่ รูปลักษณ์กลมสวยน่ารับประทาน เพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ คุณอิ๋นฉี่ตงบอกว่า ตอนนี้มีพื้นที่อีกแปลงประมาณ 1 เฮกตาร์ที่ปลูกอะบิวโดยเฉพาะ ส่วนในฟาร์มเกษตรก็ได้ปลูกอะบิวไว้ 10 กว่าต้น เอาไว้แนะนำนักท่องเที่ยว หรือเด็กๆ ที่เข้าไปเที่ยวชม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ฟาร์มเกษตรเชิงนิเวศของคุณอิ๋นฉี่ตง

      อย่างไรก็ตาม อะบิวเป็นผลไม้ที่มีศัตรูพืชมาทำลายไม่น้อยเช่นกัน ที่สร้างความปวดหัวมากที่สุดคือแมลงวันผลไม้ ในช่วงก่อนที่อะบิวใกล้ออกดอก เพื่อป้องกันแมลงผลไม้กัดกิน จะพ่นยาฆ่าแมลงในปริมาณที่จำกัด แต่หลังอะบิวออกดอกแล้วจะไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และช่วงก่อนอะบิวติดผล 2-3 เดือน จะใช้อุปกรณ์ล่อแมลงวันผลไม้ หรือใช้เครื่องดักจับแมลงแขวนไว้ที่สวนตลอดทั้งปี เมื่อผลอะบิวโตระดับหนึ่ง จะห่อผลด้วยถุงพลาสติก และในทุก 2-3 เดือนจะจ้างคนมาตรวจสอบว่ามียาฆ่าแมลงตกค้างในผลอะบิวหรือไม่ อะบิวเป็นผลไม้ที่ออกผลตลอดทั้งปี แต่ฤดูกาลที่มีผลผลิตมากอยู่ระหว่างเดือนก.ค.-ส.ค. เพื่อบำรุงต้นและให้ได้ผลอะบิวที่ได้รับสารอาหารเต็มที่ จะตัดแต่งต้นให้เตี้ยลง ห่อผลและเด็ดผลไม่ดีทิ้ง การปลูกอะบิวจนเก็บเกี่ยวผลได้ต้องใช้เวลา 3-4 ปี ดูเหมือนว่านาน แต่ถ้าคิดอีกแง่หนึ่งก็คล้ายกับนักศึกษาที่เรียนมหาวิทยาลัยนาน 4 ปีจึงจบการศึกษาและไปทำงานได้ เช่นเดียวกันผลอะบิวใช้เวลา 4 ปีสามารถออกผลจนทำเงินได้ ผู้ปลูกต้องมีความอดทน ใช่ว่าปลูกได้ครึ่งทางแล้วก็เลิกล้มไป

แมลงวันผลไม้ ศัตรูร้ายกาจของอะบิว

      คุณอิ๋นฉี่ตงบอกว่า ตนชอบงานท้าทาย แม้อายุมากแล้ว แต่ก็ยังทำเกษตรอีก ปีนี้เป็นปีที่ 12 ที่ปลูกต้นอะบิว ปัจจุบันอะบิวที่ขายในแพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์เกษตรมีชื่อส่วนใหญ่มาจากสวนของเขา เขาบอกว่า การปลูกให้ได้ผลเจริญเติบโตดี ทำได้ไม่ยากนัก สิ่งที่ยากคือทำอย่างไรให้ผลผลิตออกนอกฤดูกาล การปลูกอะบิวหากให้ปุ๋ยมากเกินไป จะทำให้ต้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนติดผลยาก แต่ต้นอะบิวที่ใกล้ตายหรือเจอวิกฤตก็จะออกผลได้เช่นกัน ส่วนใหญ่ผลแบบนี้จะเล็ก ทานไม่อร่อย รูปลักษณ์ไม่สวย เพราะฉะนั้นจะต้องควบคุมอัตราส่วนของปุ๋ย ปริมาณของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ต้องพอเหมาะ อย่าให้ผลผลิตกระจุกอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ต้องคอยตรวจเช็กราคาในตลาดผลไม้ ทำการวิเคราะห์ เพิ่มพูนความรู้ ปรับเทคนิคการปลูก หรือปรับปรุงพันธุ์ นอกจากนี้  ควรเพิ่มช่องทางขายมากขึ้น มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภค ก่อนรับใบสั่งซื้อ ควรคาดคะเนว่าผลผลิตในสวนมีประมาณเท่าไร และควรติดต่อด้วยการโทรหาลูกค้าโดยตรง คุณอิ๋นฉี่ตงบอกว่า แม้ตัวเองไม่ได้จบด้านการเกษตรโดยเฉพาะ แต่เมื่อศึกษาหาความรู้ไปนานๆ หลายๆ ครั้ง ก็จะได้รับความรู้ใหม่ เขาจะเป็นผู้ออกแบบกล่องของขวัญอะบิวในฟาร์มเอง และยังร่วมมือกับบริษัทไบโอเทคโนโลยีผลิตเอนไซม์อะบิว ร่วมมือกับเกษตรกรในท้องถิ่น เลือกสรรค์วัตถุดิบสดใหม่ในฤดูกาล ขายให้กับผู้บริโภค ผลักดันอาหารและเครื่องดื่มจากแหล่งปลูกสู่โต๊ะอาหาร ในอนาคตยังจะร่วมมือกับผู้ประกอบการพัฒนาอะบิวไอศครีม และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เพื่อขยายตลาดผลไม้อะบิวด้วย

เอนไซม์ที่ทำจากอะบิว

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti