ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 28 มี.ค.2566


Listen Later

     แม้ไต้หวันจะปลูกอ้อยเพื่อหีบคั้นทำเป็นน้ำตาลทรายน้อย แต่กากอ้อยที่เหลือก็ไม่เคยทิ้งเป็นของเสียที่เปล่าประโยชน์ มีการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อใช้ปรับสภาพของดิน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากกากอ้อยคือบริษัทไต้หวันชูการ์ แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ขายให้เกษตรกรในราคาต่ำ ทางบริษัทไต้หวันชูการ์จึงใช้วิธีหมักปุ๋ยอินทรีย์แบบดั้งเดิมที่นานถึง 1 ปี ปัจจุบันมีเกษตรกรไม่น้อยหันมาใช้ปุ๋ยจากกากอ้อยควบคู่กับปุ๋ยทั่วไป เพราะกากอ้อยจะเพิ่มช่องว่างในดิน มีประโยชน์ต่อรากของพืชที่ปลูก

กากอ้อยที่กองพะเนิน

     ไต้หวันมีพื้นที่ปลูกอ้อย 8,500 เฮกตาร์ ในจำนวนนี้เกือบ 8,000 เฮกตาร์ที่ปลูกได้จะใช้เป็นวัตถุดิบส่งให้กับโรงงานผลิตน้ำตาล 2 แห่ง คือ โรงงานหูเหว่ยและซ่านฮั่ว ส่วนกากอ้อยที่เหลือจากการหีบแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งใช้ในโรงงานเพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง อีกส่วนหนึ่งนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ยกตัวอย่างโรงงานผลิตน้ำตาลซ่านฮั่วที่นครไถหนาน มีกากอ้อยประมาณ 60,000 ตัน/ปี ในจำนวนนี้มี 40,000 ตัน ใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนอีก 20,000 ตันส่งไปยังโรงงานหมักปุ๋ยอินทรีย์ที่ซินอิ๋งและซ่านฮั่ว

     หวงเหรินจู๋(黃仁足) ช่างเทคนิคที่ดูแลฝ่ายผลิตของบริษัทน้ำตาลไต้หวันชูการ์บอกว่า การผลิตน้ำตาลจะมีผลพลอยได้คือกากอ้อยและน้ำตาลที่ไม่จับตัว ซึ่งน้ำตาลส่วนนี้มีความข้นหนืด ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง หากเติมน้ำ เติมกากอ้อย สามารถทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ และในกระบวนการหมักยังส่งกลิ่นหอมหวานออกมาด้วย แต่กากอ้อยที่เพิ่งออกจากเตามีความร้อนไม่สามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ทันที ต้องเก็บไว้ในคลังสินค้าประมาณ 10 เดือน เนื่องจากกากอ้อยมีเส้นใยหยาบสูง สลายยาก ต้องผ่านกระบวนการหมักด้วยออกซิเจนประมาณ 9 - 10 เดือน ให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการหมักครั้งที่ 2 ด้วยการพลิกกลับไปกลับมาหลายครั้ง เพื่อให้เกิดกระบวนการหมักเต็มที่ จนกากอ้อยเน่าเปื่อย ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จึงจะมีสภาวะคงที่ หากไม่ผ่านขั้นตอนที่ 2 เมื่อนำไปใช้งาน มันจะผ่านกระบวนการหมักในดินเป็นครั้งที่ 2 อีก กากอ้อยจะแย่งสารไนโตรเจนจากดิน ทำให้พืชที่ปลูกขาดไนโตรเจนจนเกิดใบเหลืองได้

ไร่ส้มโอที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากกกากอ้อยเพื่อปรับสภาพดิน

     ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำมาจากกากอ้อยมีความบริสุทธิ์ นอกจากลำอ้อยแล้ว ไม่มีวัตถุดิบอื่นเจือปน  ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไปแบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้งานได้ 2 แบบ โดยแบบแรกใช้ทำเป็นปุ๋ย และอีกแบบคือใช้เพื่อปรับสภาพดิน การทำเป็นปุ๋ยที่เป็นแบบแรกจะให้สารอาหารเร็ว เพราะมีส่วนประกอบไนโตรเจนมาก เช่น ปุ๋ยจากกากถั่วเหลือง เป็นต้น ส่วนการทำปุ๋ยอินทรีย์จากกากอ้อยเพื่อปรับสภาพดิน ต้องใช้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรมักชอบปุ๋ยที่ให้สารอาหาร ไม่ได้คำนึงถึงปุ๋ยที่ใช้ในการปรับสภาพดิน มีเกษตรกรบางคนปลูกพืชออร์แกนิก 10 กว่าปี แต่ดินที่ปลูกมีสารอินทรีย์ไม่ถึง 2% เหตุเป็นเพราะใช้ปุ๋ยเพื่อวัตถุประสงค์ให้สารอาหาร แต่ไม่ให้ความสำคัญต่อการปรับสภาพดิน ทั้งนี้ การเพาะปลูกจะมีการใช้สารอินทรีย์ในดินตลอดเวลา ดังนั้นการปรับสภาพดินก็เหมือนกับการรักษาดิน กากอ้อยจะมีสารอินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยปรับสภาพสารที่อยู่ในดินได้ เส้นใหญ่หยาบสามารถเพิ่มรูหรือรอยต่อพื้นดิน ช่วยรักษาน้ำ รักษาปุ๋ยไม่ให้สารอาหารไหลไปที่อื่น และสารอินทรีย์ยังช่วยหล่อเลี้ยงจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ได้ด้วย

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti