ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 28 พ.ค.2567


Listen Later

มันเทศไต้หวันอร่อยและมีหลายพันธุ์

   มีคำถามว่า ทำไมมันเทศกินได้ทั้งหัวและใบ แต่ว่ามันเทศพันธุ์เดียวกันไม่สามารถกินได้ทั้งหัวและใบ เพราะอะไร? เรามาฟังคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเลยจ้า ไล่หย่งชาง(賴永昌) ผู้อำนวยการพืชไร่สาขาเจียอี้ ของสถาบันวิจัยการเกษตรไต้หวัน (Taiwan Agricultural Research Institute :COA)  บอกว่า ต้นกำเนิดของมันเทศนั้นอยู่ไกลถึงเทือกเขาแอนดีสของทวีปอเมริกาใต้ จากนั้นน่าจะนำเข้าไปยุโรปในยุคแห่งการเดินเรือและเข้าสู่เอเชียผ่านการค้าทางบก แล้วค่อยนำเข้ามาสู่ไต้หวัน กล่าวได้ว่า มันเทศ "หยั่งราก" ในไต้หวันมานานกว่า 400 ปี ส่วนวิธีการนำเข้ามันเทศเข้าก็มีการกล่าวถึงหลายวิธี นอกจากนำเข้าโดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ไต้หวัน หรืออาจนำเข้ามาโดยชาวอะบอริจินออสโตรนีเซียน หรืออาจเกิดจากเรืออับปางใกล้ไต้หวัน ทำให้มันเทศลอยผ่านมหาสมุทรเข้าสู่ไต้หวันก็ยังมี

มันเทศสีเหลืองไถหนงเบอร์  57

   ไล่หย่งชาง(賴永昌) บอกว่าสถาบันวิจัยการเกษตรสาขาเจียอี้ มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์มันเทศตั้งแต่ยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ปัจจุบันได้อนุรักษ์พันธุ์มันเทศไว้มากกว่า 1,400 สายพันธุ์ เป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์มันเทศดั้งเดิมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นมันเทศส่วนใหญ่ในไต้หวันก็นำพันธุ์จากที่นี่ โดยในสมัยก่อนมันเทศถูกใช้เป็นอาหารหมู และยังเป็นตัวแทนอาหารธัญพืชราคาถูก มีพื้นที่เพาะปลูกเทียบเท่ากับข้าว แต่มันเทศไม่อร่อย หลังจากที่ไม่ได้ใช้เป็นอาหารสัตว์แล้ว สถาบันวิจัยฯสาขาเจียอี้ก็เริ่มเพาะพันธุ์มันเทศเพื่อการบริโภคของมนุษย์ ปัจจุบันมี 2 สายพันธุ์หลักที่อร่อยและได้รับความนิยมคือ มันเทศสีเหลืองไถหนงเบอร์  57 ซึ่งมีรสหวาน เนื้อละเอียดแน่น และพันธุ์สีแดงส้มไถหนง เบอร์ 66 ซึ่งมีเนื้อสัมผัสที่นุ่ม  มีน้ำมากกว่า แต่ก็หวาน

มันเทศสีแดงส้มไถหนง เบอร์ 66

   นอกจากนี้ ยังมีมันเทศพันธุ์สีม่วง เช่น มันเทศม่วง มันเทศเกาลัด มันเทศจินเซียง ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาด ยกตัวอย่าง ไถหนง เบอร์ 73 "หยกสีม่วง" ที่เพาะพันธุ์โดยไล่หย่งชาง มีเนื้อสีม่วงสด อุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานินซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพ และยังใช้เป็นสีผสมอาหารชั้นเลิศได้ มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนมันเทศเกาลัดมีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น ชื่อ "นารูโตะ คินโตกิ(Naruto Kintoki)" เนื้อหวานแน่น มีกลิ่นของเกาลัด และคุณไล่หย่งชางยังเลียนแบบมันเทศญี่ปุ่น นารูโตะ คินโตกิ พัฒนาได้มันเทศไถหนง เบอร์ 74 "จินเซียง金香" มีรสหวาน นุ่ม ทนต่อการเก็บรักษาและการขนส่ง เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง 28 วันก็ไม่งอก มีศักยภาพในการส่งออกไปยังฮ่องกง สิงคโปร์ หรือที่อื่น และยังมีมันเทศอีกพันธุ์ คือ  "มันเทศกระจับ" มีเปลือกสีม่วงและเนื้อสีขาวอมม่วงเล็กน้อย มีกลิ่นหอมของนมและกระจับอ่อนๆ เป็นมันเทศที่เกษตรกรเพาะพันธุ์เอง เหมาะสำหรับทำซุปหรือใส่ในสุกี้หม้อไฟ เพราะต้มนานเนื้อก็ไม่เละ

มันเทศหยกม่วงไถหนง เบอร์ 73

   มันเทศนอกจากกินในรูปแบบของหัวแล้ว ใบของมันเทศยังเป็นอาหารอันโอชะอีกด้วย ไล่หย่งชาง บอกว่า มันเทศที่ปลูกเพื่อกินใบหลักๆ แล้ว คือพันธุ์เถาหยวน เบอร์ 2 และไถหนง เบอร์ 71 โดยเถาหยวน เบอร์ 2 เป็นมันเทศใบพันธุ์แรกในไต้หวัน นำมาผัดหรือลวกก็ไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ยังคงความเขียว น่ากิน มีความทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็นจึงเหมาะสำหรับปลูกในภาคเหนือ หากเทียบกับพันธุ์ใบมันไถหนง เบอร์ 71 มีสีเขียวเข้มกว่าและน่ากิน ปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่นิยมบริโภคมากที่สุด แม้มันเทศทุกพันธุ์สามารถกินใบได้ แต่เนื่องจากเน้นการเจริญเติบโตเหนือพื้นดิน ต้องการใบเยอะและสด ส่งผลทำให้มันเทศสะสมสารอาหารที่หัวได้น้อย  ในทางตรงข้าม ใบของมันเทศพันธุ์ที่กินหัว ใบจะหยาบกว่า ไม่อร่อย เพราะฉะนั้น มันเทศพันธุ์เดียวกันจะกินได้ทั้งใบและหัวจึงไม่ค่อยเหมาะ

มันเทศกินใบ เถาหยวน เบอร์ 2

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti