ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 29 มี.ค.2565


Listen Later

ไต้หวันเป็นอาณาจักรของดอกกล้วยไม้

วันนี้มีเรื่องของกล้วยไม้เด่นๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในงานนิทรรศการกล้วยไม้นานาชาติไต้หวันประจำปี 2022 มาเล่าสู่กันฟัง งานกล้วยไม้ของไต้หวันในปีนี้ถือว่ามีความอลังการและน่าสนใจมาก ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไต้หวัน จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 5 เมษายน 2565 รวมทั้งหมด 11 วัน ที่สวนเทคโนโลยีกล้วยไม้ชีวภาพไต้หวัน( Taiwan Orchid Plantation) เขตโฮ่วปี้ของนครไถหนาน ในงานมีการจัดแสดงกล้วยไม้ 800 กว่าสายพันธุ์ จำนวน 200,000 ต้น ซึ่งนิทรรศกาลในครั้งนี้ใช้ธีมที่ชื่อว่า “Orchid Fantasy World” ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานนิทรรศการ แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ไต้หวันมีการปลูกกล้วยไม้ครองสัดส่วน 1 ใน 3 ของโลก สถิติการปลูกกล้วยไม้ของไต้หวันในปี 2020 มีพื้นที่เพาะปลูก 986 เฮกตาร์(6162.5ไร่) มูลค่าการผลิตสูงถึง 6.3 พันล้านเหรียญไต้หวัน นิทรรศการกล้วยไม้นานาชาติของไต้หวันมีความยิ่งใหญ่อยู่ใน 3 อันดับของนิทรรศการกล้วยไม้โลก เทียบเท่ากับนิทรรศการกล้วยไม้โตเกียว และนิทรรศการกล้วยไม้โลกที่มีการตระเวนหมุนเวียนจัดในประเทศต่างๆ การจัดงานในปีนี้ ถือว่ายังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 กรมการเกษตรและอาหารชี้ว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้าชมงานนิทรรศการ จึงมีการจัดแสดงถ่ายภาพ 360 องศาของกล้วยไม้กว่า 300 ต้นที่เป็นสายพันธุ์เชิงพาณิชย์ให้กับผู้ซื้อที่อยู่ทางไกลได้สั่งซื้อด้วย

กล้วยไม้แคทลียาคว้าแชมป์กลุ่ม ผลงานของนายไล่ชิงอี้

ในครั้งนี้ก็ขอแนะนำตัวอย่างกล้วยไม้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดที่มีการแบ่งกลุ่มต่างๆ แต่รางวัลชนะเลิศในงานนิทรรศการครั้งนี้คือ กล้วยไม้สกุลแคทลียา(Cattleya) เป็นกล้วยไม้ที่มีทั้งหมด 19 ก้าน ดอกสวยงามโดดเด่นประมาณ 300 ดอก เป็นผลงานของนายเฉินอวี้ซิ่น(陳育信) เกษตรกรตำบลสุ่ยซั่งเมืองเจียอี้ ปัจจุบันอายุ 39 ปี เป็นคนที่สนใจและรักการปลูกกล้วยไม้มานาน มีความใกล้ชิดกับดอกไม้ตั้งแต่เด็ก มีประสบการณ์ปลูกกล้วยไม้มานาน 24 ปี กล้วยไม้สกุลแคทลียาที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ปลูกในสภาพอากาศของพื้นที่ภูเขาสูงปานกลาง การที่ปลูกได้กล้วยไม้สวยงาม ดอกเยอะ ลำต้นใหญ่ ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้น้อยมาก นายเฉินอวี้ซิ่นนอกจากสนใจการปลูกกล้วยไม้แล้ว ยังวิจัยพัฒนากล้วยไม้ด้วยตนเอง ส่วนรางวัลชนะเลิศจากการแบ่งกลุ่มก็ยังคงเป็นกล้วยไม้สกุลแคทลียาด้วย เป็นผลงานของนายไล่ชิงอี้(賴清義) จากสวนกล้วยไม้อี้เหม่ย ลักษณะของดอกสีขาว ดอกใหญ่ ลำต้นใหญ่ ใน 1 ก้านจะออกดอกเรียงกันเป็นระเบียบ 3-4 ดอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสน่ห์ของกลีบปากสีเขียวเป็นที่ดึงดูดสายตาผู้คน ซึ่งกล้วยไม้แคทลียาสายพันธุ์นี้เดิมนำเข้าจากรัฐฮาวายของสหรัฐ และมีการปลูกในไต้หวันมานาน 20 ปีแล้ว

กล้วยไม้แลนนอปซิสสายพันธุ์ใหม่ คว้าแชมป์กลุ่ม ผลงานของบริษัทไทวานซูการ์วิจัยพัฒนา

ส่วนกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิสที่ส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่บริษัทไทวานซูการ์วิจัยพัฒนา ลักษณะดอกใหญ่ หนา กลีบสีขาว ดอกเยอะ เรียงรายกันเป็นระเบียบ กลีบปากสีเขียวราวกับแอปเปิลสีเขียว มีความน่ารักและโดดเด่นกว่าฟาแลนนอปซิสในท้องตลาดทั่วไป ดึงดูดสายตาผู้คนไม่น้อยเช่นกัน และยังมีกล้วยไม้สกุลหวายเดนโดรเบียมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ลักษณะดอกสีขาว กลีบปากสีแดง ออกดอกเรียงกันเป็นจำนวนมากกว่า 400 ดอก ดูแล้วมีเสน่ห์ ดึงดูดสายตาผู้พบเห็นไม่น้อย

หวายแดง คว้าแชมป์จากงานประกวดกล้วยไม้ของสภานครไถหนานประจำปี 2022

และยังมีกล้วยไม้อีกชนิดหนึ่งที่อดไม่ได้ที่จะนำมาแบ่งปันกัน คือกล้วยไม้สกุลรีแนนเธอราหรือหวายแดง ได้รับรางวัลชนะเลิศจากกลุ่มสภาจังหวัดของนครไถหนานประจำปี 2022 มีความโดดเด่นไม่น้อยเช่นกัน เป็นผลงานการปลูกของนายสวี่จ้าวยวน(許兆淵) ที่ปัจจุบันมีอายุเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น เรียนจบสาขาช่าง แต่มีความสนใจชอบปลูกกล้วยไม้ ไม่คาดคิดว่าจะคว้าแชมป์ได้  หวายแดงที่นายสวี่ปลูกได้ ไม่เพียงแต่ความสูงของต้นมากกว่าคนแล้ว ยังออกดอกสีแดงสดเยอะมากๆ สดุดตาผู้คน ซึ่งทางสมาชิกสภานครไถหนานชี้ว่า ผู้เข้าร่วมแข่งขันมาจากคนที่รักการปลูกกล้วยไม้รวมทั้งเกษตรกรจากตำบลและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ มีกล้วยไม้ที่เข้าร่วมประกวดเกือบ 500 กระถาง แต่ละกระถางล้วนมีคุณค่าและพบเห็นได้น้อย หวายแดงหรือกล้วยไม้สกุลรีแนนเธอรานี้ ยังได้รับฉายา “นางงามบางกอก-มั่นกู่เหม่ยเหริน曼谷美人”ด้วย  ทั้งนี้ทั้งนั้น หวายแดงก็เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศไทยโดยนายเฉินเหวินฉิน(陳文懃) เกษตรกรที่ปลูกดอกไม้ตำบลจู๋เถียนเมืองผิงตง ซึ่งนายเฉินเหวินฉินเคยเป็นผู้นำกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกดอกไม้ตำบลจู๋เถียนส่งกล้วยไม้ออนซิเดียมขายตลาดญี่ปุ่นครองสัดส่วนกว่า 90% แต่เพื่อต้องการสร้างความแข็งแกร่งตลาดส่งออกดอกไม้ของไต้หวัน เขาได้นำเข้าพันธุ์กล้วยไม้สกุลรีแนนเธอราหรือหวายแดงจากประเทศไทยมาปรับปรุงพันธุ์ในปี 2013 เนื่องจากหวายแดงที่มีอยู่เดิมเก็บเกี่ยวได้เฉพาะในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ของทุกปี มีผลผลิตสั้นๆ เป็นอุปสรรคต่อการส่งขายต่างประเทศ นายเฉินพบว่า สภาพอากาศในไทยจะร้อนชื้นตลอดทั้งปี แต่เมืองผิงตงที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของไต้หวันแม้สภาพอากาศร้อนชื้น แต่ยังคงมีความแปรปรวนของ 4 ฤดู เขาจึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการปลูกหวายแดง ทำการคัดเลือกพันธุ์และปรับในเรื่องของการให้ปุ๋ย จนสามารถปลูกหวายแดงคุณภาพดี ดอกสวยสด สีแดงกว่า เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ในปี 2017 เริ่มส่งหวายแดงไปขายตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลียและตะวันออกกลาง กลายเป็นกล้วยไม้ที่มีความสำคัญรองจากออนซิเดียม

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti