ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2564


Listen Later

ล่าสุด กรมการประมงร่วมมือกับยูทูบช่องดัง foodtraveldaily ส่งเสริมโครงการขายกุ้งก้ามกรามหรือกุ้งแม่น้ำหรือที่คนไต้หวันเรียกว่ากุ้งไทย(ไท่กั๋วเซีย-泰國蝦) ทั้งนี้ หลังมีมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด 19 ในไต้หวันเป็นระดับ 3 ในช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้กุ้งก้ามกรามในไต้หวันราคาตกต่ำลงมาก เหลือเพียง 150 เหรียญไต้หวัน/น้ำหนัก 600 กรัมหรือ 1 ชั่ง เพราะมาตรการป้องกันโรคระดับ 3 ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ไม่อนุญาตให้ตกกุ้งในบ่อเลี้ยงที่คนไต้หวันถือเป็นสันทนาการ นอกจากนี้ ยังสั่งปิดตลาดกลางคืนที่มีอาหารทานเล่นจากกุ้งก้ามกราม เป็นต้น จนทำให้ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งกร้ามกรามในไต้หวันสูญเสียไปนับร้อยล้านเหรียญไต้หวัน/เดือน ซึ่งปัญหาที่ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งประสบมากที่สุดคือความต้องการของตลาดลดลง การขายกุ้งต้องใช้เวลานานขึ้น ทำให้ต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารเลี้ยงกุ้ง ค่าไฟ ค่าเช่า ล้วนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐมีโครงการส่งเสริมให้ขายทางออนไลน์และมีผู้คนนำกุ้งไปวางขายริมถนนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งแล้ว ก็ทำให้ดึงราคากุ้งจากแหล่งเลี้ยงที่ตกต่ำเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ จนปัจจุบันขายกันชั่งละ 220-230 เหรียญไต้หวัน และถ้าหากสถานการณ์การระบาดในประเทศดีขึ้น เริ่มมีร้านอาหารเปิดให้บริการมากขึ้น ตลอดจนเมื่อถึงช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่คนไต้หวันนิยมใช้กุ้งในการบาร์บีคิว เกษตรกรเลี้ยงกุ้งคงจะไม่มีปัญหาในเรื่องการยังชีพแล้ว

กุ้งก้ามกรามที่นำมาพัฒนาเพาะเลี้ยงในไต้หวัน

เฉินเจี้ยนอิ้ว(陳建佑) ผอ.กองการประมงชี้ว่า ในครึ่งปีหลังทางหน่วยงานรัฐจะทยอยส่งเสริมสินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นปลา กุ้ง หอย ที่เป็นสินค้าคุณภาพดี สินค้ามีปริมาณมากพอที่สามารถจำหน่ายสม่ำเสมอ ล้วนอยู่ในโครงการผลักดันกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่เป็นกุ้งก้ามกรามหรือกุ้งไทย ยังมีกุ้งขาว และปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลานิล ปลานวลจันทร์ ปลากระพง ปลาเก๋า เป็นต้น สำหรับกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามหรือกุ้งที่คนไต้หวันเรียกว่าไท่กั๋วเซีย ถือเป็นกุ้งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงในไต้หวันไม่น้อย เป็นกุ้งราคาค่อนข้างแพง เป็นกุ้งเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ผลประกอบการเลี้ยงทั่วไต้หวันมีมากกว่า 2,000 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเลี้ยงกันมากที่เมืองผิงตงในพื้นที่เกือบ 1,400 เฮกตาร์ ครองสัดส่วน 80% ของประเทศ สามารถเลี้ยงได้ปีละ 2 ครั้ง ชาวประมงจะใช้วิธีแบ่งเลี้ยงเป็นช่วงๆ ประมาณเดือนมิ.ย.ถึงก่อนเทศกาลไหว้พระจันทร์ถือเป็นช่วงฤดูกาล แต่ไม่คาดคิด เมื่อถึงช่วงต้นฤดูกาลของปีนี้ก็ประสบกับภาวะการระบาดของโควิด 19 ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ฟาร์มตกกุ้งต้องปิดตัวลง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ส่งผลกระทบต่อการขายกุ้งเป็นอย่างมาก ราคาจากแหล่งเลี้ยงในช่วงที่ตกต่ำที่สุดเหลือเพียง 100 กว่าเหรียญไต้หวัน/ชั่ง แต่โชคดีตอนนี้ราคาขยับขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติ ขายกันชั่งละ 200 กว่าเหรียญไต้หวันแล้ว ทางรัฐบาลท้องถิ่นเมืองผิงตงชี้ว่า กุ้งก้ามกรามหรือกุ้งไทยเป็นรายการหนึ่งของอาหารทะเลที่นิยมนำมาปิ้งย่างในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ นิยมตกก้งุเพื่อสันทนาการ ร้านอาหารไทยชอบใช้กุ้งก้ามกราม นำมาต้นยำ นำไปเผา ย่าง หรือทอดกระเทียมกรอบ เป็นต้น

สถาบันเพาะเลี้ยงกุ้งที่เมืองผิงตง

สาเหตุที่คนไต้หวันเรียกกุ้งก้ามกรามหรือกุ้งแม่น้ำว่า “กุ้งไทยหรือไท่กั๋วเซีย” เพราะว่า ในปี 1970  ดร.หลินเซ่าเหวิน(林紹文) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำที่ประจำอยู่ที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO)ได้นำกุ้งก้ามกรามประมาณ 300 ตัว จากประเทศไทยเข้ามาไต้หวัน ต่อมา ดร.เลี่ยวอีจิ่ว(廖一久) ได้นำไปทดลองเพาะเลี้ยงและทำการผสมเทียมจนประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักของคนไต้หวัน ทำให้ในเวลาต่อมามีการทยอยเลี้ยงในหมู่ประชาชน ในจำนวนนี้ มีฟาร์มเลี้ยงกุ้งไทยตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเป็นของนายหลี่เซิ่งเหลียง(李勝良)ที่อยู่ในเมืองผิงตง และนายหลินเซินจิน(林森津)ที่อยู่ในเมืองไถหนาน ซึ่งทั้ง 2 ฟาร์มสามารถเพาะเลี้ยงลูกกุ้งได้จำนวนมาก และเริ่มผลักดันให้มีการเลี้ยงในบ่อรวมทั้งปรับปรุงเทคนิคการเลี้ยงมากขึ้น มีการร่วมมือกันระหว่างผู้เลี้ยงก้ามกรามขายส่งตรงไปยังร้านอาหารทั่วไต้หวัน

ไท่กั๋วเซียนิยมตกในบ่อเลี้ยง ถือเป็นกีฬาสันทนาการ

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti