ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 3 ธ.ค.2567


Listen Later

   เฉินคุนชั่น (陳坤燦) จบการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวะซงซาน (松山工農) ด้วยความหลงใหลในพืชพรรณ เขาอุทิศชีวิตให้กับการปลูกและดูแลพืชมากว่า 40 ปี ในปี 2013 เขาย้ายไปอาศัยที่เมืองอี๋หลาน (宜蘭) และสร้างสวนพืชพรรณส่วนตัวขนาด 650 ผิง เพื่อเติมเต็มความฝันในการปลูกพืช ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คุณเฉินคุนชั่นเดินทางไปเยี่ยมฟาร์มปลูกเบญจมาศที่ตำบลเถียนเหว่ย เมืองจางฮั่ว เขารู้สึกตื่นเต้นกับทุ่งดอกเบญจมาศที่งดงาม และได้ถามเจ้าของโฮมสเตย์เกี่ยวกับไฟส่องสว่างในทุ่งดอกไม้ เพราะแสงไฟเหล่านี้เป็นภาพที่มีเอกลักษณ์ในยามค่ำคืนของเถียนเหว่ย ผู้ที่ขับรถผ่านทางด่วนในพื้นที่นี้จะเห็นทุ่งดอกเบญจมาศที่ส่องแสงระยิบระยับในความมืด ซึ่งกลายเป็นภาพที่ตราตรึงในใจของคนในเขตภาคกลางของไต้หวัน

เปิดไฟส่องดอกเบญจมาศเพื่อให้ดอกเบญจมาศบานช้าลง

   หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องเปิดไฟส่องดอกเบญจมาศ คำถามนี้เกี่ยวข้องกับว่าไฟช่วยให้ดอกบานเร็วขึ้นหรือช้าลงหรือไม่? คำตอบที่ถูกต้องคือช่วยให้ดอกเบญจมาศบานช้าลง ดอกเบญจมาศเป็นพืชที่ต้องการช่วงเวลากลางวันที่สั้นและกลางคืนที่ยาว (Short-day plant) เพื่อกระตุ้นการเกิดตาดอกและออกดอก เมื่อฤดูใบไม้ร่วงมาถึง กลางวันสั้นลงและกลางคืนยาวขึ้น ทำให้ดอกเบญจมาศสามารถบานตามธรรมชาติได้ 

   อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ ตำบลเถียนเหว่ย(田尾) ซึ่งปลูกเบญจมาศเพื่อใช้เป็นดอกไม้ตัดขาย ดอกเบญจมาศที่บานตามธรรมชาติมักมีลำต้นยาวเพียง 30-40 เซนติเมตร ลำต้นที่สั้นจะส่งผลต่อราคาขาย ดังนั้นเกษตรกรจึงเปิดไฟเพื่อยืดระยะเวลาแสงสว่าง ช่วยยับยั้งการบานของดอก จนกระทั่งลำต้นยาวถึงประมาณ 90 เซนติเมตร จากนั้นจึงปิดไฟเพื่อให้ดอกบาน ลำต้นที่ยาวขึ้นไม่เพียงช่วยให้เกษตรกรขายได้ราคาดีขึ้น แต่ยังเพิ่มโอกาสในการออกแบบงานศิลปะด้วยดอกไม้ได้หลากหลายและสร้างสรรค์มากขึ้นอีกด้วย

เบญจมาศเป็นพืชที่ตอบสนองต่อช่วงแสงสั้น จะบานตามธรรมชาติในฤดูใบไม้ร่วง จึงมักเรียกว่า เบญจมาศฤดูใบไม้ร่วง

   ดอกเบญจมาศจัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (Asteraceae) และสกุล Chrysanthemum ด้วยความหลากหลายในรูปร่างและสีสันของดอก ความสามารถในการปรับช่วงเวลาการออกดอกด้วยแสงไฟ รวมถึงอายุการใช้งานที่ยาวนานของดอกไม้ตัด จึงทำให้ดอกเบญจมาศเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรและผู้บริโภค เป็นหนึ่งในพืชดอกเศรษฐกิจที่สำคัญของไต้หวัน สถิติการเกษตรปี 2023 ระบุว่า ไต้หวันมีพื้นที่ปลูกเบญจมาศประมาณ 594 เฮกตาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกดอกไม้ตัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีแหล่งผลิตหลักอยู่ในเมืองจางฮั่ว (彰化) และผลผลิตจากพื้นที่นี้คิดเป็น 97% ของทั้งประเทศ โดยเฉพาะในตำบลเถียนเหว่ย (田尾) ซึ่งคิดเป็น 70% ของผลผลิตในเมืองจางฮั่ว

   นอกจากการปลูกเพื่อเป็นดอกไม้ตัดแล้ว ดอกเบญจมาศยังสามารถนำไปใช้เป็นไม้กระถางหรือปลูกประดับสวนได้อย่างกว้างขวาง การใช้ดอกไม้ตัดเป็นวิธีที่พบได้บ่อยที่สุด ตั้งแต่การใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาไปจนถึงการตกแต่งในชีวิตประจำวัน ในอดีตอาจมีข้อห้ามในการใช้เบญจมาศเนื่องจากเกี่ยวข้องกับงานศพ มักหลีกเลี่ยงนำมาใช้ในการเฉลิมฉลองวันเกิด แต่ด้วยการพัฒนาสายพันธุ์และรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่ ทำให้เบญจมาศกลายเป็นดอกไม้หลักในการออกแบบงานศิลปะดอกไม้ที่หลากหลาย

เบญจมาศกลายเป็นดอกไม้หลักในการออกแบบงานศิลปะดอกไม้ที่หลากหลาย

   ดอกเบญจมาศใหญ่ไม่ได้เป็นสายพันธุ์ของดอกเบญจมาศ แต่เกิดจากการตัดแต่งกิ่งและเด็ดยอดเพื่อให้ต้นเดียวสามารถออกดอกเบญจมาศนับร้อยนับพันดอก นอกจากนี้ การปลูกเบญจมาศในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคขั้นสูง เช่น การเสียบยอด การเด็ดยอด และการตัดแต่งกิ่ง เพื่อสร้างศิลปะดอกเบญจมาศในรูปแบบต่างๆ เช่น เบญจมาศทรงสูง เบญจมาศน้ำตก เบญจมาศจัดทรง  หรือเบญจมาศในกระถางบอนไซ ผลงานเหล่านี้มักสร้างความประทับใจให้ผู้ชม ซึ่งหนึ่งในงานแสดงดอกเบญจมาศที่สำคัญของไต้หวันคือ เทศกาลดอกเบญจมาศที่ทำเนียบอดีตประธานาธิบดีเจียงไคเช็ก (士林官邸菊展) ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน โดยหนึ่งในไฮไลต์ของงานคือ เบญจมาศทรงสูง ที่ใช้เทคนิคการจัดกิ่งและเด็ดยอด ทำให้เบญจมาศต้นเดียวสามารถออกดอกได้เป็นร้อยเป็นพันดอกที่เรียงกันอย่างงดงาม เป็นเทคนิคพิเศษเฉพาะของกรุงไทเปที่หาชมได้ยาก

เบญจมาศมีหลากหลายสีและสายพันธุ์

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti