ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 31 ม.ค.2566


Listen Later

     รายการในครั้งนี้ขอนำเรื่องสาหร่ายเห็ดลาบมาเล่าสู่กันฟัง หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า ทำไมคนไทยจึงเรียก “สาหร่ายเห็ดลาบ” ส่วนคนไต้หวันเรียกว่า “อวี่ไหลกูหรือเห็ดที่มากับสายฝน(雨來菇)” แต่ชื่อทางการคือ  “สาหร่าย Nostoc commune” และยังมีชื่อเรียกอีกมากมาย ทำไมเรียกชื่อต่างกัน ก็คงต้องอธิบายกันก่อน เอาเป็นว่าขอเริ่มต้นของคำว่า “สาหร่ายเห็ดลาบ” จากการสันนิษฐาน เนื่องจากหน้าตาคล้ายเห็ดหูหนูจึงเรียกว่าเห็ด เมื่อเอาไปทำลาบ คนท้องถิ่นจึงเรียกว่า “เห็ดลาบ” แต่เนื่องจากจัดอยู่ในสกุลของสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง จึงเรียกชื่อว่า “สาหร่ายเห็ดลาบ” ซึ่งในภาษาจีนก็มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น อวี่ไหลกู(雨來菇) เห็ดที่งอกหลังฝนตก  ตี้ผีไช่(地皮菜) ผักที่งอกตามพื้นดิน ตี้มู่เอ่อ(地木耳) เห็ดหูหนูที่งอกตามพื้นดิน เซี่ยอวี่เตอต้าเปี้ยน(下雨天的大便)อุจจาระหลังฝน ซั่งตี้เตอเหยี่ยนเล่(上帝的眼淚)น้ำตาของเบื้องบน ฯลฯ และในไต้หวันยังมีเรื่องเล่าในกลุ่มชนพื้นเมืองบอกว่า เกิดจากน้ำตาของคู่รักคู่หนึ่ง เนื่องจากพ่อแม่ขัดขวางความรัก หลังหนีจากบ้าน ทั้งสองพบกันและเสียชีวิต น้ำตาที่ไหลลงพื้นได้งอกเป็นสาหร่ายเห็ดลาบ ดังนั้นจึงเรียกว่า “น้ำตาคู่รัก(情人的眼淚ฉิงเหรินเตอเหยี่ยนเล่)” แต่ในความเป็นจริง สาหร่ายชนิดนี้มีอยู่ทั่วโลก อย่างน้อยพบเห็นใน 130 ประเทศ

ปลูกสาหร่ายเห็ดลาบบนก้อนหินเล็กๆ 

     ไม่กี่ปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฉือจี้ได้พัฒนาสาหร่ายเห็ดลาบที่มีขนาดเล็กใหญ่ สีสันต่างกัน รองศ. โก่งเนี่ยนฉือ(耿念慈)บอกว่า สาหร่ายเห็ดลาบอุดมไปด้วยโปรตีน การพัฒนาให้มีสีสันรูปร่างต่างกัน นำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น มีโปรตีนสีน้ำเงินที่เรียกว่า ไฟโคไซยานิน(Phycocyanin) มีสารอัลจิเนตที่ทำให้เกิดเจล นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุดมด้วยวิตามินเอ บี12 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน แร่ธาติ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม สังกะสี หากเทียบกับองุ่นในน้ำหนักเท่ากัน มีธาตุเหล็กมากกว่า 32 เท่า และยังมีสารสีเรืองแสงธรรมชาตินำมาประยุกต์ใช้ในชีวการแพทย์ ใช้ทำมาร์กหน้า นับว่าเป็นสาหร่ายที่มีประโยชน์มากจริงๆ

ม เทคโนโลยีฉือจี้ พัฒนาสาหร่ายเห็ดลาบให้มีขนาดและสีสันต่างกัน

     สาหร่ายเห็ดลาบในไต้หวันยังกลายเป็นความทรงจำของหลายคนในวัยเด็ก หนึ่งในจำนวนนี้คือ คุณพันซิ่วฉิน(潘秀琴) ผู้ก่อตั้งฟาร์มเกษตรออร์แกนิกอวี่เซียง(宇相有機農場) เธอบอกว่า ในสมัยก่อนจะไม่เรียกว่า “อวี่ไหลกู(雨來菇)” แต่จะเรียกว่า “เฉ่าผีกู草皮菇” ที่แปลว่าเห็ดที่ขึ้นตามพื้นหญ้า เนื่องจากหลังฝนตกจะมีสาหร่างอกโผล่จากพื้นหญ้า เธอและคนในครอบครัวจะนำถังน้ำไปนั่งเก็บด้วยกัน เอาไปผัดหรือต้มน้ำซุป เป็นอาหารที่พบบ่อยบนโต๊ะอาหารของชาวหมั่นโจว หลังจากที่เธอเติบโตมีครอบครัวแล้ว ความทรงจำในวัยเด็กยังคงวนเวียนอยู่ในสมองตลอด ดังนั้นเพื่อต้องการให้สาหร่ายเห็ดลาบกลายเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ปี 2008 จึงจัดตั้งฟาร์มและบริษัท เริ่มพัฒนาการเพาะปลูกสาหร่ายเห็ดลาบ

คุณพันซิ่วฉินและลูกชาย ช่วยกันผลักดันการปลูกสาหร่ายเห็ดลาบ

     การเพาะเลี้ยงสาหร่ายเห็ดลาบไม่ยุ่งยาก เก็บเกี่ยวได้ทั้งปี ยังพัฒนาเป็นฟาร์มเกษตรท่องเที่ยวได้ ยกตัวอย่าง คุณเซวียจิ้นซุ่น อายุ 65 ปี หลังเกษียณ กลับบ้านเกิดปลูกสาหร่ายมา 8 ปีแล้ว นอกจากปลูกขาย ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวสัมผัสการเป็นเกษตรกร มีรายได้เกือบ 100,000 เหรียญไต้หวันต่อเดือน และเกษตรกรในชุมชนรายอื่นก็มีรายได้ที่งดงามเหมือนกัน คุณเกาจื้อเหว่ย อายุ 29 ปี หลังเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติแล้ว กลับบ้านเกิดช่วยคุณแม่ จัดตั้งฟาร์มแห่งที่ 2 ช่วยกันผลักดันการปลูก ทำเว็บไซต์เพิ่มช่องทางการขาย วิ่งขายตลาดนัดเกษตร รวมทั้งไปสอนที่โรงเรียน นำสาหร่ายประกอบอาหารให้เด็กๆได้กินกัน อนาคตจะจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรการผลิตสาหร่ายแห่งแรกในไต้หวัน เพื่อให้ผู้คนรู้จักน้ำตาของคู่รักมากยิ่งขึ้น

คุณคุณเซวียจิ้นซุ่นปลูกสาหร่ายเห็ดลาบนาน 8 ปีแล้ว

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti