ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 5 ก.ค.2565


Listen Later

     ที่หมู่บ้านสือกวงเจี้ยน ตำบลเจียตง เมืองผิงตง สถานที่ที่ได้รับฉายา “ถิ่นกำเนิดแตงโมของไต้หวัน” เนื่องจากที่นี่มีการปลูกต้นกล้าแตงโมที่ผ่านการต่อกิ่งปริมาณมากที่สุด และยังกำเนิดลูกหลานแตงโมมากมาย หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือ หวังเจียเจิ้ง (王家正) บรรพบุรุษเริ่มปลูกแตงโมตั้งแต่ยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ตั้งแต่เด็กใช้ชีวิตอยู่ในสวนแตงโมมากกว่าที่บ้าน การปลูกแตงโมของไต้หวันมีความพิเศษกว่าการปลูกพืชผลอื่นๆ คนปลูกเปรียบเสมือนชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน เดือนนี้ปลูกอยู่ในจังหวัด A เดือนถัดไปปลูกในจังหวัด B  สมัยก่อนเปลี่ยนที่ปลูกเพราะเมื่อปลูกถึงปีที่ 2 แล้ว คุณภาพด้อยลง ต่อมามีการพัฒนาสายพันธุ์แตงโม และปลูกด้วยการต่อกิ่ง ไม่ต้องเปลี่ยนที่ปลูก แต่ความต้องการบริโภคมีทั้งปี แตงโมโตเร็ว ปลูก 2-3 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้ เพื่อปรับฤดูกาลปลูกให้มีผลผลิตส่งขายตลาดตลอดปี เกษตรกรก็ยังคงเปลี่ยนที่ปลูกต่อไป

ที่หมู่บ้านสือกวงเจี้ยน ต.เจียตง เมืองผิงตง สถานที่ที่ได้รับฉายา “ถิ่นกำเนิดแตงโมของไต้หวัน”

    หวังเจียเจิ้งเล่าว่า ตั้งแต่เด็กช่วงปิดเทอมต้องช่วยคนในบ้านปลูกแตงโม ที่ผ่านมา เครื่องจักรการทำเกษตรไม่ก้าวหน้า รดน้ำ เก็บเกี่ยวต้องใช้คนแบกหาม แค่พื้นที่ปลูกแตงโม 1,000-2,000 ลูก ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีงานทำล้นมือ หลังพัฒนาสายพันธุ์แตงโมยักษ์แล้ว พื้นที่ปลูกและปริมาณที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีการใช้เครื่องจักรทันสมัย ธุรกิจปลูกแตงโมค่อยๆ เริ่มสุกงอม สำหรับพื้นที่ปลูกแตงโมของตระกูลหวังนอกจากอยู่ในเมืองผิงตงแล้ว ที่ตำบลซีหลัว เมืองหยุนหลิน ตำบลซ่านฮั่ว นครไถหนาน ตำบลซานซิง เมืองอี๋หลาน รวมทั้งตำบลโซ่วฟง ตำบลฟ่งหลินและอวี้หลี่ เมืองฮัวเหลียน ล้วนมีการร่วมมือกับเกษตรกรที่ไว้วางใจ เกษตรกรเป็นผู้ปลูก ส่วนหวังเจียเจิ้งเป็นผู้รับผิดชอบเก็บเกี่ยวและนำไปขาย ทำอย่างนี้ผ่านมาหลาย 10 ปี

หวังเจียเจิ้งร่วมมือกับเกษตรปลูกแตงโม

    การหาพื้นที่ปลูกแตงโมก็หายากราวกับหาขุมทรัพย์ หวังเจียเจิ้งจะขับรถตระเวนหาที่ปลูก เริ่มจากพื้นที่ริมแม่น้ำ เพราะดินเป็นทรายสีดำเหมาะกับการปลูกมากที่สุด อย่างเช่น เขตริมแม่น้ำเกาผิง แม่น้ำหลานหยาง ฯลฯ แต่เมื่อตัดสินใจปลูกแล้วก็ต้องหาพื้นที่ทำงาน ที่พัก คำนวณปริมาณการปลูก เพราะต้องตั้งหลักอยู่ระยะหนึ่ง เขาเล่าเหตุการณ์ช่วงเด็กที่ปลูกแตงโมริมฝั่งแม่น้ำหลานหยางกับคุณพ่อที่มีความลำบากมาก ไม่มีไฟฟ้า อาศัยแสงสว่างจากเทียน ครั้งหนึ่งในช่วงฤดูร้อนเกิดพายุไต้ฝุ่น น้ำหลากไหลเชี่ยวกราก ต้องรีบหนีเอาชีวิตรอด หลังผ่านความท้าทายหลายปี เริ่มเรียนรู้เทคนิคการพยากรณ์อากาศ เขาพูดอย่างภูมิใจว่า น่าจะมีความชำนาญไม่แพ้กรมอุตุนิยมวิทยา

หวังเจียเจิ้ง ผ่าชิมแตงโมเพื่อตรวจสอบคุณภาพ

    เมื่ออายุ 30 ปี เขาเริ่มทำธุรกิจขายแตงโม เนื่องจากสมัยก่อนเกษตรกรปลูกแตงโมอยู่ในกำมือของพ่อค้าคนกลาง มักถูกรัดเอารัดเอาเปรียบ เขาเริ่มวางแผงขายแตงโมอยู่ริมถนน ต่อมามีการร่วมมือกับเกษตรกรแตงโมที่ต่างๆ กลางเดือน พ.ค.ถือเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวแตงโมของเมืองฮัวเหลียน เขาต้องขับรถไปตรวจงานและรับซื้อแตงโม เขาบอกว่า ตั้งแต่อายุ 12 ปีก็ไปปลูกแตงโมกับพ่อที่เมืองฮัวเหลียนแล้ว เมื่อ 50 ปีก่อน คนปลูกแตงโมไม่ใช่เป็นคนฮัวเหลียน 70-80 % เป็นคนที่มาจากเมืองผิงตง หลังจากคนฮัวเหลียนเรียนรู้เทคนิคการปลูกแล้ว ธุรกิจการปลูกจึงค่อยๆอยู่ในมือของคนฮัวเหลียน คนปลูกส่วนใหญ่เป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่เด็ก การรับซื้อแตงโมจึงถือเป็นการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย รับผลประโยชน์ด้วยกัน และพบกันช่วงเก็บเกี่ยวทุกๆปี การเก็บเกี่ยวแตงโมเมืองฮัวเหลียนแบ่งเป็นช่วงเดือน พ.ค.และ ส.ค. ทั้งสองเดือนนี้ เขาต้องไปตระเวนตรวจแตงโม ระหว่างทางมีเกษตรกรทักทาย ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และหวังเจียเจิ้งจะคุ้นเคยกับการพกมีดแตงโมไว้กับข้างกาย เพื่อผ่าชิม ตรวจคุณภาพของแตงโม  แม้ฤดูกาลสั้น แต่แตงโมหนึ่งผลขายได้หลายร้อยเหรียญไต้หวัน เก็บเกี่ยวปีละหลายครั้ง สร้างรายได้ดี  ดีกว่าปลูกสับปะรด แต่เขายอมรับว่าคนขายแตงโม 100 คนมีเพียง 1 คนที่ทำกำไร ที่เหลือต้องขาดทุน จะมากหรือน้อย เพราะพื้นที่ปลูกกว้าง รายจ่ายสูง  เพียงแค่ซื้อยาฆ่าแมลงแต่ละปีมากกว่า 20 ล้านเหรียญไต้หวัน บางครั้งราคาขายไม่เสถียร หากการขายแตงโม 1 คันรถช้าไปเพียงแค่ 3 วัน รายรับอาจจะขาดไปแสนกว่า เขาเคยเจอสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดคือ ภายใน 1 วันทั้งบ้านไม่มีรายได้เลย เหตุการณ์นี้จำได้แม่นยำ เกิดขึ้นที่นครไถจง พื้นที่ปลูกแตงโมประสบภัยน้ำหลากจากฝนตกหนักถูกน้ำพัดพาไปหมด เขารีบโดยเครื่องบินจากไถตงไปที่นครไถจง แต่ทำอะไรไม่ได้ เงินก็จ่ายให้กับเกษตรกรแล้วเกือบ 40 ล้าน เงินในบัญชีไม่เหลือเลย หลังจากนั้นนำบ้านไปค้ำประกันกู้เงิน และหยิบยืมจากเพื่อน โชคดีในเวลาต่อมา กอบกู้ธุรกิจกลับมาได้

ธุรกิจปลูกแตงโมต้องบริหารให้มีสินค้าตลอดปี

     หวังเจียเจิ้งบอกว่า การทำธุรกิจขายแตงโมมีแรงกดดันสูง ต้องบริหารการเก็บเกี่ยว ต้องประทับตราการันตีคุณภาพ ต้องนำแตงโมไปขาย ต้องให้เงินสดกับเกษตรกรและคนงาน แต่เมื่อนำไปขายจะต้องผ่านไปช่วงหนึ่งจึงจะได้รับเงินโอนเข้ามา หากบริหารผิดพลาดก็จะได้รับบทเรียนที่ขมขื่น ต้องบริหารไม่ให้สินค้าขาดตอนตลอดทั้งปี ปริมาณสินค้าต้องเสถียร ต้องหาช่องทางการจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายผลไม้ปั่น หรือขายให้กับรัฐบาลท้องถิ่นที่กิจกรรม รวมทั้งการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลตวนอู่ที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดี ล้วนเป็นแตงโมของเขา ขายแตงโมมาเกือบชาติหนึ่ง และได้รับฉายา “ราชาแตงโม” แต่เขาพูดถ่อมตัวว่า ตัวเองต้องทำธุรกิจแตงโมเนื่องจากชีวิตไม่ดี แม้รายได้ดี แต่งานหนัก จุกจิก และเหนื่อยมาก ภรรยามักจะบอกให้เกษียณงาน กลับไปอยู่บ้าน แต่เขาบอกว่า เห็นเกษตรกรในสวนแตงโม เกิดความลังเลใจ เพราะถ้าเลิกทำ เกษตรกรที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขหรือแม้แต่คนงานอีกจำนวนมาก คงต้องตกงานหลายคนแน่นอน

 คลิกฟังรายการที่นี่

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti