ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 6 เมษายน 2564


Listen Later

       แมลงวันลาย ไม่ใช่แมลงวันที่บินว่อน ร้องเสียงหึ่งๆๆๆ วนเวียนกับการตอมอาหารและเป็นพาหะนำโรค แต่เป็นแมลงที่มีประโยชน์สารพัดอย่าง กินก็ได้ ย่อยขยะอินทรีย์หรือเศษอาหารในครัวเรือนก็ได้ เป็นอาหารสัตว์ก็ได้ หรืออาจจะเป็นแหล่งโปรตีนสูงของผู้คนในอนาคตก็ได้ หนอนแมลงวันลายกำลังได้รับความสนใจจากสถาบันวิจัยทั่วโลก นำไปพัฒนาเป็นพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นพลังงานชีวมวล เฉินซื่อสง(陳世雄) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหมิงเต้าและยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์ที่ผลักดันเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อใช้ในการย่อยสลายขยะในครัวเรือน โดยไม่นานมานี้ ท่านได้เปิดหลักสูตรอบรมวิชาการเกษตรในมหาวิทยาลัยจงซิง และสมาชิกที่เรียนได้ไปดูงานเกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายที่ฟาร์มของอาจารย์เฉิน มีสมาชิกบางคนบอกว่าอยากชิมตัวหนอแมลงวันลาย อาจารย์เฉินก็เลยตอบตกลง แต่เนื่องจากเป็นครั้งแรกของการทดลองกินหนอนแมลงวันลาย ภรรยาของอาจารย์จึงไม่ยอมปรุงให้ อาจารย์เฉินจึงตัดสินใจเข้าครัวเอาหนอนแมลงวันลายมาทอด เหยาะเกลือและพริกไทยไปเล็กน้อย จากนั้นโพสต์ภาพขึ้นอินเตอร์เน็ตถามว่า “ดูสิว่า มีใครกล้ากินบ้าง?” ไม่คาดคิด หนอนแมลงวันลายที่ปรุงได้ แป๊บเดียวถูกกินจนหมดเกลี้ยง อาจารย์เฉินบอกว่า จริงๆ แล้วหนอนแมลงวันลายจะไม่มีรสชาติ รสชาติส่วนใหญ่มาจากเครื่องปรุง ที่ให้ลองกินก็ไม่ได้ว่าต้องการสนับสนุนให้สมาชิกกินหนอนแมลงวันลาย เป็นเพราะว่าต้องการบ่งชี้ว่า หนอนแมลงวันลายนั้นกินได้จริงๆ

หนอนแมลงวันลายทอดกรอบ เหยาะเกลือ พริกไทยเล็กน้อย

       อาจารย์เฉินซื่อสง เริ่มเลี้ยงหนอนแมลงวันลายด้วยกากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านตัดแต่งพันธุกรรมมานานนับ 10 ปีแล้ว และนำหนอนแมลงวันลายตัวเป็นๆ นี้ไปเลี้ยงไก่ ต่อมาพบว่าหนอนแมลงวันลายสามารถสลายกากถั่วเหลือง อาหารที่เหลือจากครัวเรือน ขี้ไก่ ขี้หมู ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ การเลี้ยงหนอนแมลงวันลายยังใช้เป็นอาหารของไก่หรือหมู แทนการใช้ผงกระดูกสัตว์หรือปลาป่นได้ด้วย ซึ่งไม่กี่ปีนี้ มีหลายมหาวิทยาลัย หน่วยงานเก็บขยะ เริ่มศึกษาทดลองนำหนอนแมลงวันลายมากำจัดเศษอาหารในครัวเรือน แม้บริษัทใหญ่ๆ ก็ยังเคยมาสอบถามหาความรู้จากอาจารย์เฉิน ซึ่งอาจารย์ก็คาดหวังส่งเสริมการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายมากำจัดขยะครัวเรือน และต่อยอดทำเป็นอาหารสัตว์ที่ใช้เลี้ยงหมูและไก่ อาจารย์เฉินยังบอกด้วยว่า ในต่างประเทศมีฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ แม้แต่รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ก็ยังส่งเสริมให้เลี้ยงหนอนแมลงวันลายแทนอาหารโปรตีนจากสัตว์ด้วย และก่อนหน้านี้อาจารย์เฉินได้รับเชิญเข้าไปฟังการรายงานอาหารที่นำมาเลี้ยงสัตว์ปีก ปศุสัตว์ สัตว์น้ำ ของสภานิติบัญญัติพบว่า คณะกรรมการการเกษตรยังคงจำกัดการใช้อาหารสัตว์ที่ทำจากพืชมาเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย และนอกจากนี้ ตัวหนอนที่เลี้ยงได้จะต้องผ่านกรรมวิธีด้วยความร้อน อบให้แห้ง จากนั้นบดเป็นผงก่อน จึงจะนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งกรณีเช่นนี้ อาจารย์เฉินบอกว่า ขีดจำกัดที่ไม่ยืดหยุ่น ไม่เป็นผลดีต่อการผลักดันของการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายในวงกว้าง ทั้งนี้ อาจารย์เฉินมีความเห็นว่า หลังจากที่นำหนอนแมลงวันลายอบแห้งแล้วบดเป็นผง เมื่อนำมาเลี้ยงไก่ ไก่จะไม่ชอบกิน สู้เอาหนอนตัวเป็นๆ มาเลี้ยงไก่จะดีกว่า และการนำหนอนมาแปรรูปเป็นผง ยังถือเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการด้วย ทำให้การผลักดันไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงหวังว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบไม่ควรจำกัดจนไม่มีความยืดหยุ่น

หนอนแมลงวันลาย อ.เฉิน อร่อยๆ เลี้ยงด้วยกากถั่วเหลือง Non-GMO

       สำหรับการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อใช้สลายขยะในครัวเรือนที่ปฏิบัติได้ผล ได้แก่ ที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่นตำบลโข่วหู เมืองหยุนหลิน ซึ่งในแต่ละวันสามารถสลายขยะในครัวเรือนของท้องถิ่นได้ 280-350 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังช่วยสลายขยะครัวเรือนในเรือนจำของเมืองหยุนหลิน สนามบินบนน้ำของหน่วยรบทหารอากาศกองที่ 4 ประจำเมืองเจียอี้ รวมแล้วมีมากถึง 200 กิโลกรัม/วัน และตัวหนอนแมลงวันลายก็ยังสามารถนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ ส่วนสิ่งปฏิกูลของหนอนแมลงวันลายก็สามารถนำมาทำปุ๋ยและยาไล่แมลง และทางรัฐบาลท้องถิ่นยังส่งเสริมให้ประชาชนนำเศษอาหารในครัวเรือนมาแลกกับวัสดุปุ๋ยหมักฟรี ทำให้การรีไซเคิลขยะในครัวเรือนได้ผลดี ทั้งนี้ ขยะถือเป็นปัญหาใหญ่ของหลายเขตเมืองและจังหวัด จากสถิติของทบวงสิ่งแวดล้อมระบุ ขยะในครัวเรือนจะเป็นเศษอาหารครองสัดส่วนสูงถึง 60% หากสามารถแยกประเภทขยะ และรีไซเคิลให้มากที่สุด จะช่วยลดปริมาณขยะได้จำนวนมาก และยังสามารถยืดอายุการใช้งานของเตาเผาได้ด้วย ซึ่งการรีไซเคิลเศษอาหารในครัวเรือนของแต่ละเมืองแต่ละจังหวัด ส่วนใหญ่เอาไปต้ม ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูง แล้วก็นำไปเลี้ยงหมู ยกตัวอย่าง เกษตรกรที่เลี้ยงหมูในเมืองหยุนหลินหลายแห่งที่ต้องการลดต้นทุนการเลี้ยง ก็มักจะไปรับเศษอาหารในครัวเรือน แล้วนำไปเลี้ยงหมู แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาคุกคามจากโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบ ทำให้หลายฝ่ายตรึงเครียด และนอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2019 รัฐบาลห้ามใช้เศษอาหารจากครัวเรือนนำไปเลี้ยงหมู เศษอาหารในครัวเรือนที่รีไซเคิลได้ต้องนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด

เลี้ยงหนอนแมลงวันลายสลายขยะในครัวเรือน

       ตำบลโข่วหู เมืองหยุนหลิน เป็นตำบลเดียวที่ไม่นำเศษอาหารในครัวเรือนผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หลินเจ๋อหลิง กำนันตำบลโข่วหูบอกว่า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารในครัวเรือน ต้องผ่านการหมัก 3-4 เดือน ถือว่าค่อนข้างช้า แต่เนื่องจากหนอนแมลงวันลายมีวงจรชีวิตประมาณ 27-49 วัน ไข่ของหนอนแมลงวันลาย 1 กรัม สามารถกำจัดเศษอาหารในครัวเรือนได้ถึง 29 กก. และในวงจรชีวิตของไข่หนอนแมลงวันลาย 1 กรัม จะผลิตไข่ได้มากถึง 99 กรัม กล่าวได้ว่ามันแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก อีกทั้งกำจัดเศษอาหารครัวเรือนได้เร็วด้วย นอกจากนี้ เศษอาหารไม่ต้องแยกเป็นของสุกหรือว่าของดิบ ผ่านกรรมวิธีในเขตได้ และยังไม่ต้องขนส่งข้ามเขต ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งได้ หลินเจียอี้(林嘉億) หัวหน้าฝ่ายเก็บขยะของที่ทำการตำบลโข่วหูบอกว่า ขยะจากครัวเรือนทั้งสุกและดิบในตำบลโข่วหูมีประมาณ 280-350 กก./วัน หนอนแมลงวันลายกินเศษอาหารจนหมดทุกวัน และยังช่วยเหลือพื้นที่ข้างเคียงกำจัดเศษอาหารจากครัวเรือนได้ 200 กก./วันด้วย พนักงานเก็บขยะไม่ต้องขนส่งเศษอาหารเหล่านี้ไปที่ตำบลเป่ยกั่ง จวงยิวโถง(莊攸同) เลขาที่ทำการตำบลโข่วหูบอกว่า หนอนแมลงวันลายเป็นตัวย่อยสลายอาหารตัวยง ตอนที่เป็นตัวอ่อนจะย่อยเศษอาหารจากครัวเรือน มูลของสัตว์ ซากสัตว์ และมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนตัวของมันให้กลายเป็นอาหารที่คุณค่า ทางที่ว่าการตำบลโข่วหูใช้ตัวอ่อนไปผลิตเป็นอาหารของเลี้ยงสัตว์น้ำหรือปศุสัตว์ และขี้ของหนอนที่เป็นของแข็งก็นำไปทำปุ๋ย ส่วนของเหลวที่มันถ่ายออกมาก็จะนำไปรดน้ำต้นไม้ เพื่อป้องกันหนอนแมลงมากัดกิน ถือว่ามีประโยชน์นานาประการ ซึ่งไม่ว่าตัวอ่อนหรือตัวหนอนเจริญวัยล้วนไม่มาทำลายมนุษย์ด้วย

ดูงานการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อขจัดขยะในครัวเรือน

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti