ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2564


Listen Later

คางคกยักษ์หรือคางคกอ้อย(海蟾蜍)สายพันธุ์ต่างถิ่นที่มีพิษรุนแรงมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ไม่นานมานี้ ชาวบ้านที่ตำบลเฉ่าถุนเมืองหนานโถวเจอคางคกในสวนผัก หลังจากที่ศต.หยางอี้หรู(楊懿如) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตรวจวิเคราะห์พบว่าเป็นคางคกยักษ์หรือคางคกอ้อย(海蟾蜍)สายพันธุ์ต่างถิ่นที่มีพิษรุนแรงและทำลายระบบนิเวศระดับต้นๆ ของโลก ล่าสุด ช่วงต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่าน อาสาสมัครที่อนุรักษ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำได้จับคางคกยักษ์ไปแล้วกว่า 200 ตัว จากการสำรวจพบว่าคางคกยักษ์ปรากฏตามสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้น จึงเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันสอดส่อง หากพบร่องรอยในละแวกใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย ให้รีบแจ้งกรมป่าไม้เขตหนานโถว สมาคมปกป้องสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เพื่อส่งเจ้าหน้าเข้าไปจับ ที่ผ่านมาในเดือนก.ย.ปี 2019 ได้มีประชาชนโพสต์คางคกยักษ์ทางโซเชียลแล้ว แต่ตอนนั้นหลายคนไม่รู้จักและไม่สนใจ ต่อมาในเดือนก.ย.-ต.ค.ปี 2020 มีข่าวที่ชาวบ้านเห็นซากของคางคกยักษ์ถูกทิ้งบนท้องถนน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคางคกยักษ์ปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่ป่าของไต้หวันประมาณ 2 ปีแล้ว คาดว่าในปีนี้ที่พบคางคกยักษ์เพิ่มขึ้นจำนวนมากในตำบลเถ่าถุนเมืองหนานโถว อาจะเป็นคางคกยักษ์รุ่นที่ 2  ศต.หยางอี้หรูบอกว่า คางคกยักษ์มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ที่ผ่านมามันถูกนำเข้าไปในหลายๆ ประเทศ ทั้งฟลอริดา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งเกาะแถบทะเลแคริบเบียน ฮาวาย และที่อื่นๆ เพื่อช่วยกำจัดศัตรูของพืชเศรษฐกิจ อย่างเช่น อ้อย กล้วยหอม เพราะฉะนั้น คางคกยักษ์จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “คางคกอ้อย-蔗蟾” แต่ในความเป็นจริง คางคกยักษ์มีขีดจำกัดในการทำลายศัตรูพืช

เปรียบเทียบขนาดของคางคกยักษ์กับคางคกบ้าน

สำหรับในไต้หวัน จากการบันทึกระบุ มีการนำเข้าคางคกยักษ์ในปี 1935 ในช่วงยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน แต่มีการเลี้ยงไม่มาก ไม่มีข่าวคางคกยักษ์ทำลายระบบนิเวศหรือเป็นสัตว์ทำลายล้าง   ต่อมามีคนนำเข้ามาเลี้ยงไว้ดูเล่นและจากความเชื่อที่ว่าคางคกเป็นสัตว์นำโชค แต่ในประเทศจีนกลับได้รับความนิยม ในหมู่นักปรุงยาจีนตำรับดั้งเดิม เพราะเชื่อว่าพิษคางคกนั้น มีสรรพคุณกระตุ้นหัวใจ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยรักษาโรคโพรงจมูกอักเสบอาการปวดฟัน อีกทั้งหนังคางคกและอวัยวะส่วนอื่นๆ ยังเชื่อกันว่ามีประโยชน์ด้านการบำบัดโรคต่างๆ ได้ดีเช่นกัน ส่วนในไต้หวันไม่มีข่าวว่าเลี้ยงไว้เพื่อใช้เป็นยาบำรุง แต่เลี้ยงเพื่อนำโชค เมื่อเลี้ยงเบื่อก็ทิ้ง เนื่องจากคางคกยักษ์เป็นสัตว์มีพิษ ในไต้หวันจะไม่มีศัตรูทำลายมันได้ มันเป็นสัตว์ตะกละกินพืชและสัตว์พื้นเมืองหลายชนิด ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย มันจะสืบพันธุ์ที่น่ากลัวมาก ตัวเมียแต่ละตัววางไข่ 8,000–30,000 ฟองต่อปี ระยะฟักตัวแค่ 48 ชั่วโมง มันจะกลายเป็นคางคกหนุ่มสาวภายใน 12 – 60 วัน หากมันเจอศัตรูมาคุกคาม มันจะพ่นของเหลวที่มีพิษจากต่อมหลังหู และพ่นได้ไกลมากกว่า 1 เมตรด้วย แม้แต่สุนัขและแมวที่กินซากศพของมันยังได้รับพิษทำให้ตายได้ เพราะฉะนั้นมันจะทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง แทบจะไม่มีศัตรูใดๆที่ฆ่ามันได้ นอกจากมนุษย์

คางคกยักษ์ที่อาสาสมัครจับได้ตัวใหญ่มาก

คางคกยักษ์จะมีขนาดของตัวใหญ่กว่าคางคกบ้านถึง 2 เท่า มีลำตัวยาวถึง 8 นิ้ว และมีน้ำหนักถึง 2 ปอนด์หรือเกือบ 1 กิโลกรัม (ใหญ่ที่สุดที่บันทึกไว้มีความยาว 9.4 นิ้ว) คางคกชนิดนี้มีพิษตั้งแต่เป็นไข่โดยพิษจะอยู่ในลำตัว จะเป็นพิษกับสัตว์หลายชนิด ที่ผิวหนังของมันจะมีสารพิษที่สามารถฆ่าสัตว์ที่พยายามกินมัน จนกระทั่งหลังปี 2016 ไต้หวันห้ามการนำเข้าคางคกยักษ์มาเลี้ยง อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ที่ตำบลเฉ่าถุนเมืองหนานโถว มีข่าวการปรากฏตัวของคางคกยักษ์ในป่า ทุ่งนา หรือสุสานร้างเป็นจำนวนมาก กรมป่าไม้เมืองหนานโถวบอกว่า หลังจากวันที่ 7 พ.ย. มีประชาชนพบเห็นคางคกยักษ์ ในวันเดียวกันเจ้าของสวนผักและอาสาสมัครได้ทำการกำจัดไปแล้ว 27 ตัว โดยจุดที่เจอคางคกยักษ์จะใช้เป็นศูนย์กลาง จากนั้นตรวจหาในวงกว้างเพื่อต้องการทราบว่ามีการขยายระดับความรุนแรงไปที่อื่นหรือไม่ ซึ่งหลังตรวจพบคางคกยักษ์ก็ได้ส่งอาสาสมัครมากกว่า 600 คนไปตรวจหาทั่วไต้หวัน คางคกยักษ์น่ากลัวจริงๆ ไม่เพียงแต่ในไต้หวันที่น่ากลัว ทั่วโลกยังกลัวมัน ช่วงที่อาสาสมัครออกไปสำรวจพบว่า แม้แต่หนอนในกองปุ๋ยหมักมันก็เข้าไปกินและรวมตัวอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน วันที่ 13 พ.ย.ได้กำจัดคางคกยักษ์ไปแล้วกว่า 100 ตัว ส่วนใหญ่ลำตัวยาว 10-15 ซม. มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย คาดว่าประชากรของคางคกยักษ์คงอยู่ในพื้นที่มาหลายปีแล้ว

คางคกยักษ์ชอบอยู่ในพื้นที่ชื้น

ชาวบ้านสงสัยว่า การที่คางคกยักษ์ปรากฏตัวเพิ่มขึ้นมาจากสาเหตุที่คนเลี้ยงเกิดความเบื่อหน่ายแล้วทอดทิ้งการเลี้ยง แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้ฟันธงว่าเป็นเหตุผลดังกล่าว อาจจะเกิดจากคางคกยักษ์หลบหนีออกมาจากกรงหรือว่าผู้เลี้ยงต้องการปล่อยชีวิตเป็นทาน คงต้องรอดูปีหน้าว่าจะมีการขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะไข่ของคางคกยักษ์จะฟักตัวสำเร็จมีเพียง 0.5% และมีเพียงประมาณ 10 ตัวเท่านั้นที่จะโตเต็มวัย อนาคตคงต้องใช้วิธีให้มันตกหลุมพราง จับด้วยวิธีที่แม่นยำที่สุด หยางอี้หรู ผู้เชี่ยวชาญบอกด้วยว่า หากประชาชนพบร่องรอย ให้สวมถุงมือจับ แล้วนำส่งที่ศูนย์ หรืออาจโทรเรียกอาสาสมัครมาจับ หรือแจ้งทางเฟซบุ๊กของศูนย์พร้อมทั้งแจ้งวันที่และที่อยู่ หรือโทรสายตรง 1999 แจ้งรัฐบาลท้องถิ่น จากนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่ไปจับ หากแจ้งทางเฟซบุ๊กหรือทางโซเชียล ไม่ต้องแจ้งตำแหน่งที่เจอ เกรงว่าจะมีคนไปจับก่อน เนื่องจากช่วงที่อาสาสมัครออกไปตรวจตราหรือจับคางคกยักษ์พบว่า มีคนไปรับซื้อคางคกยักษ์เพื่อเอาไปขาย ราคาดีที่สุดจะขายได้ตัวละ 5,000 เหรียญไต้หวัน แต่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000-2,000 เหรียญไต้หวัน/ตัว เมื่อเลี้ยงแล้วอาจจะเบื่อแล้วนำไปปล่อย สร้างปัญหาที่รุนแรงได้ เพราะการเลี้ยงคางคกยักษ์นาน 15-30 ปี ถือว่ายาวนาน ต้องมีความอดทนพอ

อาสาสมัครที่ไปตรวจหาคางคกยักษ์

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti