ที่นี่ไต้หวัน

ที่นี่ไต้หวัน วันอังคารที่ี 23 พฤศจิกายน 2564


Listen Later

 หลายพื้นที่ในกรุงไทเปถูกนกพิราบป่ายึดครองมากขึ้น

ใครก็ตามที่ไปเที่ยวอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก ก็คงเห็นนกพิราบป่ารวมกลุ่มจำนวนไม่น้อยอยู่บริเวณด้านหน้าซุ้มประตูใหญ่สุด เพื่อหาอาหารที่ผู้คนนำมาโปรยให้กิน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจำนวนกพิราบที่มีมากที่สุดในกรุงไทเปก็ไม่ใช่ที่นี่อีกแล้ว ทั้งนี้ จากการสำรวจของกองอนุรักษ์สัตว์กรุงไทเปที่ว่าจ้างมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันพบว่า พื้นที่ 75 แห่งของกรุงไทเปที่มีการรวมตัวของนกพิราบป่า ในจำนวนนี้มีมากที่สุดอยู่บริเวณศาลเจ้ากวนตู้เขตตั้นสุ่ย รองลงมาคือสวนสาธารณะต้าอัน นอกจากนี้ บริเวณที่มีการรวมตัวของนกพิราบป่า 8 อันดับแรกล้วนมีมากกว่า 100 ตัวทั้งนั้น หลินเหวยถิง(林韋廷)นศ.ปริญญาเอก คณะป่าไม้มหาวิทยาลัยไต้หวันบอกว่า จุดสำคัญ “นกพิราบ” หนาแน่น ด้วยเหตุผลเดียว มีของกิน มีคนให้อาหาร สังเกตว่าสถานที่ประชาชนให้อาหารนกเป็นประจำ จำนวนของนกพิราบป่าก็จะมีมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น จำนวนที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลต่อความเป็นอยู่ของนกเขาหรือนกท้องถิ่นอื่นๆ และไม่กี่ปีนี้ ยังได้รับคำร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนกพิราบบ่อยๆ ด้วย

ชมนก แต่อย่าให้อาหารนก

รัฐบาลกรุงไทเปถึงกับต้องทำกิจกรรมรณรงค์ไม่ให้อาหารนกพิราบ ให้ชมนกอย่างเดียว เพราะมันแพร่พันธุ์เร็วมาก จนส่งผลต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม จากการสำรวจพบว่า หากประชาชนหยุดให้อาหารนก จะช่วยลดจำนวนประชากรนกพิราบป่าได้ดีที่สุด หลินเหวยถิงยังบอกด้วยว่า จากปีที่แล้วได้ทำการสำรวจโดยคัดเลือกบริเวณที่ประชาชนร้องเรียนว่ามีนกพิราบรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก โดยใช้กล้องส่องทางไกลและเครื่องนับจำนวน สำรวจ 4 ครั้ง/พื้นที่ พบว่าที่ศาลเจ้ากวนตู้มีนกพิราบมากที่สุด 371 ตัว รองลงมาที่สวนสาธารณะต้าอันจำนวน 221 ตัว สวนสาธารณะสนามม้า(หม่าฉ่างติง) 145 ตัว สวนสาธรณะเหอผิง 141 ตัว สวนสาธารณะริมแม่น้ำกวนซัน 134 ตัว ริมแม่น้ำจิ๋งเหม่ย 110 ตัว สะพานหมินเฉวียน 109 ตัว อนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ก 103 ตัว อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าบางสถานที่มีนกพิราบป่ารวมตัวอยู่มาก แต่ว่าประชาชนไม่ค่อยซีเรียส อย่างที่เกาะเซ่อจื่อ สาเหตุเป็นเพราะว่าความหนาแน่นของประชากรน้อยกว่า ประชาชนคุ้นเคยกับนกพิราบ ยอมรับได้ แต่ก็ใช่ว่าไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ ส่วนพื้นที่นกพิราบป่ารวมตัวอยู่มากที่สุดอย่างศาลเจ้ากวนตู้ เป็นเพราะว่าคนในท้องที่ขายอาหารนกให้กับนักท่องเที่ยวแล้วนำไปเลี้ยงนก การขายอาหารนกก็ถือเป็นรายได้ของคนในท้องถิ่นด้วย

หลินเหวยถิงบอกด้วยว่า จากการสังเกตหลายปีที่ผ่านมา คนที่อาศัยอยู่ในกรุงไทเปที่ให้อาหารนกจะมีการรวมตัวเป็นองค์กร ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อด้านศาสนา มีบางพื้นที่ในเวลาประมาณตี 3-4 ของช่วงหัวรุ่ง มีคนนำกระสอบป่านใส่อาหารโปรยให้นกพิราบป่ากิน แถมถุงกระสอบป่านที่ใส่อาหารยังเขียนคำว่า “โฝ-佛”ที่แปลว่าพระพุทธเจ้าด้วย ช่วงเดือนพ.ค.ปีนี้ที่มีการระบาดของโควิด 19 ในไต้หวันรุนแรงขึ้น มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันปิดไม่ให้คนนอกเข้าไปในเขตมหาวิทยาลัย จากการสังเกตพบว่า นกพิราบป่าที่อยู่ในเขตมหาวิทยาลัยมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้เด่นชัด เพราะฉะนั้น การที่ผู้คนไม่ให้อาหารนกจะเป็นการป้องกันการรวมตัวของนกได้ อย่างที่เมืองมาดริด เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสเปนยังมีนโยบายห้ามให้อาหารนกพิราบป่า จำนวนประชากรนกพิราบป่าลดลงอย่างเห็นได้เด่นชัดเลยทีเดียว

หลายพื้นที่ในกรุงไทเปถูกนกพิราบป่ายึดครอง สร้างปัญหาทำให้สิ่งแวดล้อมสกปรก

ในไต้หวัน มีการนำเข้านกพิราบมาเลี้ยงเป็นเพราะว่ามีกิจกรรมแข่งขัน หลายสิบปีที่ผ่านมา นกพิราบหลงทาง หลุดรอดออกจากกรงโบยบินอยู่ข้างนอก เมื่อได้รับอาหารที่ชาวบ้านให้ก็ทำให้มีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ในกรุงไทเปส่วนใหญ่ตึกรามบ้านช่องสร้างสูง ทำให้เป็นที่ซุกทำรังของนกพิราบได้ดี ประกอบกับสภาพอากาศของไต้หวันเหมาะต่อการอยู่อาศัย เมื่อมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ใน 1 ปีก็จะมีการสืบพันธุ์อย่างน้อย 3-4 ครั้ง  แต่เนื่องจากนกพิราบป่าเป็นสัตว์ต่างถิ่น จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของนกในถิ่นกำเนิดเดิม เวลาที่มันต้องการหาคู่ มันจะขับไล่นกชนิดอื่น ขณะเดียวกัน ตอนที่นกพิราบจิกอาหารหากินตามพื้น หากมีนกชนิดอื่นอยู่ด้วย มันก็จะขับไล่ให้ไปที่อื่นเพราะไม่ต้องการให้นกอื่นมาแย่งอาหารด้วย แม้การให้อาหารสัตว์ป่าในบริเวณสวนสาธารณะของกรุงไทเปมีการออกกฎหมายมาควบคุม โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ปีนี้ เริ่มมีมาตรการปรับตั้งแต่ 1,200-6,000 เหรียญไต้หวัน หวงสูหรู(黃淑如)ผอ.กองดูแลสวนสาธารณะบอกว่า ประชาชนชอบให้อาหารนกพิราบ กระรอก หรือปลา เต่าที่อยู่ในสระเขตสวนสาธารณะ ในจำนวนนี้ที่บริเวณสวนสาธารณะต้าอันจะมีความรุนแรงมากที่สุด ประเภทของสัตว์ที่ให้อาหารก็มีจำนวนมากที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าสัตว์เหล่านี้กินอาหารไม่หมดก็จะสร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม ทำให้สกปรก ทำให้น้ำเสีย จนเกิดปัญหามลภาวะ แถมยังดึงดูดหนูมาอยู่เพิ่มมากขึ้น ส่วนประชากรกระรอกที่เพิ่มขึ้นนั้น มันจะกัดแทะเปลือกต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ กิ่งไม้หักหรือตาย จนอาจส่งผลความปลอดภัย นกพิราบป่าที่เพิ่มขึ้นก็จะถ่ายมูลส่งกลิ่นเหม็น หรืออาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เช่น โรคสมองอักเสบจากเชื้อรา โรคไข้หวัดนกจากเชื้อไวรัส โรค Q fever (โรคไข้คิว) ทำให้ปอดอักเสบ เป็นต้น ที่สำคัญ ผู้คนไม่น้อยยังมีความเครียดที่เกิดจากการสร้างความรำคาญของนกพิราบ ภาครัฐอาจต้องเข้ามาสนับสนุนศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวงจรชีวิตนกพิราบอย่างจริงจัง เพื่อควบคุมปริมาณของนกไม่ให้มากเกินไป จนเกิดปัญหาสุขภาพชีวิตของประชาชนได้

ป้ายรณรงค์ไม่ให้อาหารนกพิราบ

...more
View all episodesView all episodes
Download on the App Store

ที่นี่ไต้หวันBy รจรัตน์ ยนต์สุวรรณ, Rti