๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (๓ หน)
วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค
คิมฺหานมาเส ปฐมสฺมึ คิมฺเห
ตถูปมํ ธมฺมวรํ อเทสยิ
นิพฺพานคามึ ปรมํ หิตาย
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตูติ ฯ
ณ บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถาแก้ด้วย รัตนสูตร ยังค้างอยู่ยังหาเสร็จลงไปไม่ บัดนี้จะชี้แจงแสดงในคาถาว่า วนปฺปคุมฺเพ ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงตรัสเทศนาธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนสัตว์ ที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว สัตว์ทั้งหลายยังหลับอยู่หาตื่นไม่ เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว นำเอาธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้นั้น มาแจกแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดุจปลุกสัตว์ทั้งหลายทั้งโลกให้ตื่นขึ้น ดุจพระองค์บ้าง เรื่องนี้กระแสวาระพระบาลีนี้เป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกคัมภีรภาพมาก ทั้งเรียนก็ยาก ทั้งแสดงก็ยาก ทั้งฟังก็ยาก มันยากด้วยกันทั้งนั้น เหตุนั้นวันนี้สมควรแล้วที่เราท่านทั้งหลายจะพึงได้สดับฟังในรัตนสูตรนี้
วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค แปลเป็นสยามว่า ครั้งเมื่อพุ่มไม้ในป่ามียอดอันแย้มแล้ว
คิมฺหานมาเส ปฐมสฺมึคิมฺเห ในต้นฤดูร้อน ในต้นเดือนของฤดูร้อนแห่งฤดูร้อน ฉันใด
ตถูปมํ ธมฺมวรํ อเทสยิ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง ซึ่งธรรมอันประเสริฐ
นิพฺพานคามึ ปรมํ หิตาย ให้ถึงซึ่งพระนิพพานอันประเสริฐ เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย
ตถาอุปฺปมํ มีอุปมาฉันนั้น
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
เอเตน สจฺเจน ตามความสัตย์อันนี้
สุวตฺถิ โหตุ สพฺพทา ขอความสวัสดีจงมีเถิด
นี้เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามได้ความเท่านี้ ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบาย ขยายความเป็นลำดับไป