กัณฑ์ที่ ๒๔ ติลักขณาทิคาถา
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ (๓ หน)
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ เย ชนา ปารคามิโน
อถายํ อิตรา ปชา ตีรเมวานุธาวติ
เย จ โข สมฺมทกฺขาเต ธมฺเม ธมฺมานุวตฺติโน
เต ชนา ปารเมสฺสนฺติ มจฺจุเธยฺยํ สุทุตฺตรํ
กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย สุกฺกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต
โอกา อโนกมาคมฺม วิเวเก ยตฺถ ทูรมํ
ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย หิตฺวา กาเม อกิญฺจโน
ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต
เยสํ สมฺโพธิยงฺเคสุ สมฺมา จิตฺตํ สุภาวิตํ
อาทานปฏินิสฺสคฺเค อนุปาทาย เย รตา
ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตาติ ฯ
* ขุ.ธ.(บาลี) ๒๕/๓๐/๕๑-๕๒
** องฺ.ทสก.(บาลี) ๒๔/๑๕๘/๒๗๑-๒๗๒
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยวิปัสสนาภูมิปาท เป็นธรรมสำหรับประจำของพุทธบริษัท พระองค์ทรงตรัสแยกแยะธรรมเป็นหลายประเภท ประเภท นี้เรียกว่า วิปัสสนาภูมิปาท พระองค์ทรงประกาศตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้น ในหมู่บริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในครั้งกระโน้นเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ธรรมอันนี้ ธรรมสังคาหกาจารย์เถระเจ้าทั้งหลายร้อยกรองขึ้นสู่สังคายนา ตลอดมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ บัดนี้เราท่านทั้งหลายจะพึงได้สดับ ณ บัดนี้
จะชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาและตามมตยาธิบาย กว่าจะยุติการโดยสมควรแก่เวลา เบื้องต้นแห่งวิปัสสนาภูมิปาทนี้ว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา ถ้าบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นความหมดจดวิเศษ เป็นหนทางหมดจดวิเศษ เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ เย ชนา ปารคามิโน บรรดามนุษย์ทั้งหลาย ชนเหล่าใดถึงซึ่งฝั่งได้ ชนเหล่านั้นมีประมาณน้อยนัก อถายํ อิตรา ปชา ตีรเมวานุธาวติ หมู่สัตว์นอกนี้ย่อมเลาะชายฝั่งข้างนี้นั้นแล ก็ชนทั้งหลายเหล่าใดประพฤติตามธรรมในธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวชอบแล้ว ชนทั้งหลายเหล่านั้นจักถึงซึ่งฝั่งอันล่วงเสียซึ่งวัฏฏะอันเป็นที่ตั้งของมัจจุ อันบุคคลข้ามได้แสนยาก ข้ามได้ยากนัก บัณฑิตผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญาย่อมละธรรมดำทั้งหลายเสีย ยังธรรมชาวให้เจริญขึ้น ความยินดีอาศัยพระนิพพาน ไม่มีอาลัย จากอาลัย ยินดีได้ด้วยยากในพระนิพพาน ยินดีได้ด้วยยากในนิพพานอันเป็นที่สงัดใด ควรละตัณหาทั้งหลายเสีย เป็นผู้ไม่มีกังวลแล้ว ปรารถนาซึ่งความยินดียิ่งในพระนิพพานนั้น บัณฑิตผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญา ชำระตนให้ผ่องแผ้วเสียจากเครื่องเศร้าหมองของจิตทั้งหลาย จิตอันบัณฑิตทั้งหลายเหล่าใด อบรมดีแล้วโดยชอบ ในองค์แห่งการตรัสรู้ทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายเหล่าใดไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในการละการถือมั่น บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีอาสวะ เป็นผู้โพลง ดับสนิทแล้วในโลกด้วยประการดังนี้ นี้เนื้อความของพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาได้ความเท่านี้