จิตของบุคคลใดอันโลกธรรมถูกต้องแล้วไม่หวั่นไหว มีจิตเป็นตัวยืนและโลกธรรม ทั้งหลายเป็นตัวจร โลกธรรมท่านจัดเอาไว้ ๘ อย่าง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ จัดเป็นอิฏฐารมณ์ภาคหนึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นี้เป็น อิฏฐารมณ์ สิ่งเป็นที่นิยมน่าปรารถนาทุกถ้วนหน้า เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ไม่เป็นที่นิยมทุกถ้วนหน้า ไม่ปรารถนาทั้งนั้น ที่เป็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์นี้ของมีประจำโลก ถ้าโลกนี้มีอยู่ตราบใด ก็มีอยู่ตราบนั้น ถ้าโลกนี้ไม่มีอยู่ตราบใด ก็ไม่มีตราบนั้น อิฏฐารมณ์อนิฏฐารมณ์ทั้ง ๒ อย่างนี้ ก่อนเราเกิดมา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เขาก็มีอยู่แล้ว เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ เขาก็มีอยู่แล้ว หรือ กำลังเราเกิดมา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เขาก็มีอยู่แล้ว เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ เขาก็มีอยู่ เขาไม่ได้หายไปทางไหน เขาประจำอยู่ในโลกนี้ เขาไม่ใช่ของใคร ใครจะถือเอาเป็นสิทธิ์ไม่ได้ เป็นของทั่วไปแก่มนุษย์ที่เกิดมาในโลก หรือสัตว์ใดๆ ที่เกิดมาในโลกก็แบบเดียวกัน ส่วนลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นอิฏฐารมณ์ นิยมชมชอบทั้งนั้น เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ เป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่นิยมชมชอบทั้งนั้น
เหตุนี้ เราท่านทั้งหลายเมื่อมาประสบพบพุทธศาสนาแล้ว มีที่หลีกที่เลี่ยงแท้ๆ แต่ว่าผู้ที่ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ก็ไม่รู้จะหลีกเลี่ยงไปไหน ท่าไหน อย่างไร ผู้ที่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ก็รู้จักหลีกเลี่ยง ผู้ที่ได้ฝึกฝนใจในธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ก็มีท่าหลีกเลี่ยงในอิฏฐารมณ์อนิฏฐารมณ์เหล่านี้ ถ้าไม่ได้ฝึกฝนใจในธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ก็ไม่มีท่าจะหลีกเลี่ยง ถ้าว่าได้ฟังธรรมของสัตบุรุษหรือได้ฝึกฝนในธรรมของสัตบุรุษแล้วก็มีท่าที่จะหลีกเลี่ยง ถ้าไม่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษหรือได้ฝึกฝนในธรรมของสัตบุรุษแล้ว ก็ไม่มีท่าหลีกเลี่ยงอีกเหมือนกัน เหตุนั้นเราท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต
เมื่อรู้จักชนิดของอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เหล่านี้แล้ว มีที่หลีกเลี่ยงได้ จิตของเราที่จะรับอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ จิตหลีกเลี่ยงจากอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เหล่านี้ ต้องบังคับจิตให้ดี จิตของเราต้องมีที่ตั้ง ตั้งจิตเสียให้ดี ให้ถูกหลักถูกฐานของที่ตั้งจิตเสียให้ดีแล้ว จะต่อสู้ซึ่งอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เหล่านี้ได้ ถ้าว่าตั้งไม่ดีแล้วละก็ จะต่อสู้อิฏฐารมณ์อนิฏฐารมณ์ไม่ได้เลย
ตั้งให้ดีจะตั้งตรงไหน ต้องตั้งที่ตั้งของเขา ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ สะดือทะลุหลังขึงด้ายกลุ่มเส้นหนึ่งตึง ขวาทะลุซ้าย ขึงด้ายกลุ่มเส้นหนึ่งตึงแค่กัน ตึงด้วยกันทั้ง ๒ เส้น ตรงกลางจรดกัน ตรงกลางที่จรดกันของกลางนั่นแหละ ตรงนั้นเรียกว่ากลางกั๊ก ใจหยุดที่กลางกักนั่นแหละ ถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ หมั่นเอาใจจรดอยู่ตรงนั้นแหละ เริ่มต้นก็หมั่นเอาใจจรดอยู่ตรงนั่นแหละเสมอ จะนั่ง จะนอน จะเดิน จะกิน จะดื่ม จะมี จะทำ จะพูด จะอุจจาระ จะปัสสาวะ ก็หยุดตรงนั้นเสมอ แล้วก็ไม่ค่อยจะอยู่ จรดไป เถอะจรดหนักเข้าๆ พอชินหนักเข้าก็ชำนาญ หนักเข้าๆ ก็อยู่ พออยู่เท่านั้นยิ้มแล้วละเรา พอใจหยุดตรงนั้นเท่านั้น ยิ้มแล้วละ
พอใจหยุดเสียได้เท่านั้นแหละ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ ไม่กระทบกระเทือนแล้ว เฉยเสียแล้วล่ะ ไม่อาดูรเดือดร้อนด้วยอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์แล้ว ต้องทำใจให้หยุด พอหยุดเสียเท่านั้นทั้งอิฏฐารมณ์อนิฏฐารมณ์ ทำอะไรไม่ได้ ตรงนั้นนั่นแหละ ถ้าทำใจให้หยุดตรงนั้นแล้วก็ได้ละก็ ถูกส่วนละ ถูกส่วนเช่นนั้นละก็ สิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิด ส่วนที่เป็นอนิฏฐารมณ์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียน ทุกข์ ไม่กระทบกระเทือน ทำให้จิตกระทบกระเทือนไม่ได้
ถ้าจิตเป็นขนาดนี้แล้ว บุคคลนั้นถึงซึ่งความสูงสุดแล้ว ถึงซึ่งมงคลแล้ว เข้าถึงซึ่งเนื้อหนังมงคลแล้ว เป็นตัวมงคลขึ้นแล้ว บุคคลนั้นเป็นตัวมงคลขึ้นแล้ว นี้อยากได้มงคลต้องทำอย่างนี้นะ ถ้าทำไม่ถูกอย่างนี้ละก็ไม่ได้มงคลทีเดียว ถ้าว่าอาดูรเดือดร้อนไป ตามอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์เป็นอัปมงคลแท้ๆ อัปมงคลไม่ใช่เป็นแต่เฉพาะฆราวาสหญิงชายนะ ภิกษุสามเณรเหมือนกัน พอสงบไม่ลง ทำใจหยุดไม่ได้ก็เป็นอัปมงคลแท้ๆ เมื่อรู้เช่นนั้น รู้จักละมงคลอัปมงคลเช่นนี้ นี้ต้องเพียรทำใจให้หยุดเข้าที หยุดได้เวลาใดก็เป็นมงคลเวลานั้น ถ้าหยุดไม่ได้เวลาใดก็เป็นอัปมงคลเวลานั้น