เคยรู้สึกมั้ยว่าแค่ได้ยินชื่อเมือง ก็เหมือนเรารู้สึกบางอย่างขึ้นมาในใจ
อย่างนิวยอร์กก็อาจนึกถึงผู้คนที่พลุกพล่าน เดินเร็ว แสงไฟจากตึกระฟ้า
แต่เมื่อนึกถึงชนบทญี่ปุ่น ภาพของทุ่งนา ทางรถไฟ และเสียงจักจั่นในฤดูร้อนกลับผุดขึ้นมา
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ภาพจำ แต่มันคือ sense of place หรือ “ความรู้สึกของสถานที่” ที่ก่อตัวขึ้นจากทั้งบรรยากาศ กิจกรรม ผู้คน วัฒนธรรม และประสบการณ์ส่วนตัวที่เรามีต่อพื้นที่นั้น
ยกตัวอย่างให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้นเช่นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่หลายคนน่าจะเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับไปยังบ้านที่เติบโตมา ได้กลับไปใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูงเก่าๆ ที่ไม่ได้เจอนานแล้ว สิ่งนี้คือการเปลี่ยน sense of place จากเมืองที่รีบร้อนกลับสู่พื้นที่ที่ผูกพัน กลับไปเจอบรรยากาศ สถาปัตยกรรม กลิ่น เสียง แสงที่คุ้นเคยนั่นเอง
sense of place คืออะไร ทำไมแต่ละเมืองถึงมี sense of place ที่แตกต่างกัน และ sense of place สำคัญกับเมืองยังไง รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมเล่าให้ฟังแล้วใน Podcast Capital City EP.42 ตอนนี้