ความเสื่อมอันนี้แหละมีอยู่
กับใครบ้าง! หมด เราท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต หญิงชาย เด็กเล็กผู้
ใหญ่ไม่ว่า เสื่อมทีละนิด ทีละนิด ทีละนิด
เหมือนกับนาฬิกาเดินเหมือนกันทุกคน
ติณชาติ พฤกษชาติ รุกขชาติ วัลลิชาติ ใด ๆ ไม่เหลือเลย
ในกำเนิดทั้ง ๔ สังเสทชะ อัณฑชะ ชลาพุชะ โอปปาติกะ
อัณฑชะ สัตว์เกิดด้วยฟองไข่ ก็เสื่อมเหมือนกัน
สังเสทชะ สัตว์เกิดด้วยเหงื่อไคลก็เหมือนกัน เกิดขึ้นอาศัยน้ำเป็น
แดนเกิด ก็เสื่อมเหมือนกัน
โอปปาติกะ จะลอยขึ้นบังเกิด
บังเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เปรต นรก อสุรกายเหล่านี้ หรือว่าเกิดเป็น
สัตว์เดียรัจฉานก็เสื่อม
เกิดเป็นกายทิพย์ ภุมเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดา
จาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี ก็มีเสื่อมอีก
เหมือนกัน เสื่อมทีละนิด ๆ ไปตามหน้าที่ พอหมดหน้าที่ก็แตกกายทำลาย
ขันธ์ เสื่อมอย่างนี้เหมือนกันหมด
หรือไปเกิดในชั้นพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา
มหาพรหมา ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา
สุภกิณหา อสัญญีเวหัปผลา ก็เสื่อมเหมือนกัน แบบเดียวกันไม่คลาดเคลื่อน
อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ในปัญจสุทธาวาส ก็เสื่อมเหมือนกัน
หรืออรูปพรหมทั้ง ๔ อากาสานัญจายตนะภพ วิญญาณัญจายตนะภพ
อากิญจัญญายตนะภพ เนวสัญญานาสัญญายตนะภพ ก็มีความเสื่อม
ดุจเดียวกัน
เมื่อมีความเสื่อมเช่นนี้น่ะ พระพุทธองค์ประสงค์อะไร ?
จะต้อนพวกเราให้พ้นจากความเสื่อมเหล่านี้ ให้ออกจากภพไปเสีย
ให้เข้าถึงธรรมกายไปนิพพาน ต้องการอย่างนั้นหนา ไม่ใช่ต้องการท่าอื่น
หนา จะต้อนพวกเราจะขับพวกเรา จะเหนี่ยวรั้งพวกเราพ้นจากไตรวัฏ
กรรมวัฏ วิปากวัฏ กิเลสวัฏ ให้ขึ้นจาก "วัฏสงสาร"
วัฏสงสารน่ะคือ กรรมวัฏ วิปากวัฏ กิเลสวัฏ
ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ จะให้ขึ้นจากภพ กามภพ รูปภพ
อรูปภพ พ้นจากภพทั้ง ๓ ไป ให้มีนิพพานมีที่ไปในเบื้องหน้า ประสงค์อย่าง
นั้นจึงได้ทรงรับสั่งเช่นนี้ ให้เราไม่เผลอในความเสื่อมนั้น
ถ้าไม่เผลอในความเสื่อมนั้น ทำอะไรเป็นได้ผลหมด
เป็นภิกษุ สามเณร ทำอะไรเป็นได้ผลหมด เล่าเรียนก็สำเร็จ
คันถธุระก็สำเร็จ วิปัสสนาก็สำเร็จ ไม่ท้อถอยกันละ
ฝ่ายอุบาสก อุบาสิกา ทำนาก็รวยกันยกใหญ่ ทำสวนก็รวยกันยก
ใหญ่ ทำไร่ก็ร่ำรวยกันยกใหญ่ เป็นคนไม่เกียจคร้านทีเดียว
ถ้าว่ารับราชการงานเดือนก็เอาดีได้ทีเดียว หรือไม่ว่าทำหน้าที่อันใด
เป็นเอาดีได้ทั้งนั้น รุ่งเรืองเจริญด้วยกันทั้งนั้น เพราะแกไม่เผลอ แกระวังตัว
อยู่เสมอเช่นนี้
แล้วก็ทางชั่วแกไม่ทำทีเดียว แกกลัวมันตามไปลงโทษแก แกไม่ยอม
เด็ดขาดทีเดียว แกเห็นความเสื่อมอยู่เสมอดังนี้
ให้เห็นอยู่อย่างนี้แหละ จึงจะเอาตัวรอดได้
ถ้าไม่เห็นอย่างนี้เอาตัวรอดไม่ได้ ต้องเห็นความเสื่อมอยู่เช่นนี้
จาก พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๑๖ เรื่อง ปัจฉิมวาจา