"(ปุจฉา: ปฏิบัติธรรมด้วยความอยาก ..อยากสงบ อยากมีสติ อยากมีปัญญา ยังไม่ถือว่าเป็นการปฎิบัติที่ถูกต้อง ..ยังเจือปนด้วยกิเลสใช่มั๊ยครับ ?)
..ในเรื่องของความอยากนั้น ก็มีทั้งด้านที่เป็นอกุศลแล้วก็ด้านที่เป็นกุศล
.
กุศล ก็คือ ความฉลาด ความดี
.
ถ้าเป็นด้านที่เป็นอกุศล ก็เรียกว่า ตัณหาความทะยานอยากซึ่งเป็นกิเลส เป็นเหตุแห่งความทุกข์
.
ลักษณะของตัณหา ก็คือ จะอยากดึงเข้าตัว อยากได้อยากมีอยากเป็นอยากเสพติดต่างๆ มันจะเป็นเรื่องของทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว เรียกว่าดึงเข้า พออะไรไม่ชอบก็ผลักออก มันจะเกิดการดึงเข้าแล้วก็ผลัก
.
แต่จะมีความอยากที่เป็นกุศลอยู่ ความอยากที่เป็นกุศลนี้ท่านเรียกว่า ฉันทะ ความพอใจและความใคร่ที่จะทำในสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ มันเป็นสิ่งที่ดีงามนั่นเอง
.
ความอยากที่เป็นอกุศลตัณหา ท่านสอนให้ละ เกิดความอยากที่เป็นกุศลที่เรียกว่า ฉันทะ ความใฝ่ดี อยากให้สิ่งทั้งหลายอยู่ในภาวะที่ดีงาม อันนี้ท่านสอนให้เจริญ
.
.
ฉันทะ นี้เป็นองค์ธรรมหนึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่อยู่ในโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ซึ่งเป็นองค์ธรรมแห่งการที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ก็คือ อยู่ในอิทธิบาท 4 นั่นเอง ที่เป็นคุณเครื่องแห่งความสำเร็จ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น บาทฐานแห่งความสำเร็จ อิทธิ ก็คือความสำเร็จ ก็คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
.
ฉันทะ การที่จะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จได้ต้องมีฉันทะ ความใฝ่ดี แม้กระทั่งทางโลกก็ตามทางธรรมก็ตาม เห็นคุณค่าในสิ่งนั้นแล้วก็ ใฝ่ดี ที่จะทำขึ้นมาพัฒนาขึ้นมาซึ่งลักษณะของฉันทะเนี่ยมันจะตรงข้ามกับตัณsา ตัณหาจะดึงเข้าตัว มันจะไปในเรื่องของกิเลส เกิดความโลภเกิดความโกรธเกิดความหลงได้ง่าย
.
แต่ว่า ฉันทะ จะประกอบด้วยปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อะไรเป็นอะไร ก็จะเป็นในเรื่องของอโลภะ ความเสียสละความมีจิตใจที่โอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อโทสะความไม่โกรธ ..อโมหะ ความไม่หลง มีสติสัมปชัญญะ
เพราะฉะนั้น เวลาปฏิบัติธรรมก็ดูว่าเออมันจะเป็นตัณหา หรือมันจะเป็นฉันทะ ถ้าลักษณะเวลาปฏิบัติธรรมเช่นอยากสงบอยากหายฟุ้ง ปฏิบัติธรรม โอ้ ไม่สงบเลย มันฟุ้งอยู่ อยากสงบ อยากพ้นทุกข์แต่ไม่ปฏิบัติ ไม่สร้างเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง อันนี้ ตัณหา
.
แต่บางครั้งท่านก็อาศัยอาศัยตัณหาละตัณหาเหมือนกันนะ อย่างน้อยก็อยากที่จะทำความดีไว้ก่อนนะะอยากที่จะละความชั่วทำความดี
.
แต่พอเริ่มมาละเอียดก็ลองพิจารณาในจิตว่าเนี่ยเวลาอยากจะปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นตัณหาคือลักษณะเอาผล ไม่สร้างเหตุ อยากสงบอยากมีฤทธิ์อยากมีความพิเศษอยากพ้นทุกข์แต่ไม่ทำไม่สร้างเหตุ เหมือนเราอยู่ดีๆก็อยากกินอยากเที่ยวอยากลิ้มรสชาติความสุข เอาผลแต่เหตุไม่ทำ
.
แต่ถ้าเป็นฉันทะ จะประกอบด้วยปัญญา มีความรู้ความเข้าใจเชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม เรื่องกฎของการกระทำ
.
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ธรรมทั้งหลายก็เกิดจากเหตุ มีเหตุปัจจัยอย่างนี้ก็ทำให้เกิดผลอย่างนี้ เช่นความทุกข์เป็นผลก็มาจากเหตุ เหตุก็คือความไม่รู้ เกิดกิเลสตัณหาอุปทานความอยากความยึดติดต่างๆ ก็ทำให้เกิดความทุกข์ กิเลสตัณหาความไม่รู้เป็นเหตุ ทุกข์เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น นิโรธความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์เป็นผลลัพธ์ เหตุก็คืออริยมรรคมีองค์ 8 การใช้ชีวิตที่ถูกต้อง อบรมด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา.."
…………………………
ถ่ายทอดธรรมโดย
พระอาจารย์มหาวรพรต กิตฺติวโร
ณ สวนธรรมอารี จ.พระนครศรีอยุธยา
เช้า 20 มกราคม 2567
#อยากพ้นทุกข์กิเลสไหม #ฉันทะ #ความใฝ่ดี #สร้างเหตุที่ถูกต้อง #ปุจฉา #ถามตอบ #ธรรมอารี #พระมหาวรพรต
ติดตามธรรมะเพิ่มเติมได้ที่
Facebook ช่องทางสื่อสารหลัก : https://www.facebook.com/dhammaaree
Facebook ข่าวสารประชาสัมพันธ์ : https://www.facebook.com/dhammaareefoundation
YouTube คลังวิดีโอ : https://www.youtube.com/@dhamma_aree
Instagram คลังภาพ : https://www.instagram.com/dhamma_aree/
SoundCloud คลังเสียง : https://soundcloud.com/dhamma_aree
LineGroup สอบถามการปฏิบัติทั่วไป : https://bit.ly/3Fxu8Ol
LineOA ช่วยเหลือติดขัดสภาวธรรม : https://lin.ee/pXSQeyZ
Website ธรรมอารี :http://www.dhammaaree.com
TikTok ธรรมอารี : https://www.tiktok.com/@dhamma.aree