วิกฤตขาดแคลนแรงงาน: อาชีพเลี้ยงหอยนางรมกำลังกลายเป็นรุ่นสุดท้ายหรือไม่ !?
"ขาดแรงงาน ขาดแรงงาน ขาดแรงงาน" คำสามคำนี้คือปัญหาใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมหอยนางรมในไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงหอยในทะเลหรือการแกะเปลือกหอยเพื่อเอาเนื้อ ทุกกระบวนการล้วนเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานจนเกือบถึงจุดล่มสลาย ปัญหาการขาดแรงงานและช่องว่างระหว่างรุ่นสะท้อนถึงความสิ้นหวังและความไม่มั่นคงต่ออนาคตของอุตสาหกรรมหอยนางรมไต้หวัน ขณะที่การไม่มีคนแกะหอยทำให้ทั้งอุตสาหกรรมเสี่ยงต่อการหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง
เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยต้องเผชิญกับคำถามหนักหน่วง: จะต่อสู้เพียงลำพังหรือจะหยุดความสูญเสียแล้วปล่อยมือ? ความลังเลนี้ทำให้อุตสาหกรรมหอยนางรมของไต้หวันเข้าสู่ยุควิกฤติที่ไม่มีใครรับช่วงต่อและขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ทั้งนี้ ไต้หวันผลิตหอยนางรมได้ประมาณ 168 ล้านถึง 336 ล้านตัวต่อปี แต่ละตัวมีรูปร่างต่างกัน และปัจจุบันยังไม่มีเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการแกะเปลือก ลักษณะการบริโภคของไต้หวันมักเป็นเนื้อหอยในเมนูอย่าง "หอยทอด蚵仔煎" แทนที่จะเป็นหอยนางรมทั้งเปลือกสำหรับปิ้งย่าง ดังนั้น หอยทุกตัวจำเป็นต้องมีคนแกะเอาเนื้อออกก่อนวางขาย
หอยทุกตัวต้องมีคนแกะเอาเนื้อออกก่อนนำไปขาย
แหล่งผลิตหอยนางรมทั่วไต้หวันล้วนขาดแรงงาน โดยที่ตำบลตงซื่อ เมืองเจียอี้ มีแรงงานแกะหอยมากที่สุด ทำให้หอยนางรมจากเมืองหยุนหลิน, ไถหนาน, และ เผิงหู มักถูกส่งไปยังตำบฃตงซือเพื่อแกะเปลือก นอกจากนี้ หอยนางรมไม่ได้ผลิดตลอดปี และการเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ งานแกะเปลือกแม้สำคัญแต่ไม่สามารถทำเป็นอาชีพเต็มเวลาได้ ดังนั้น งานแกะหอยส่วนใหญ่อาศัยแรงงานในครัวเรือนและแรงงานชั่วคราว โดยกลุ่มหลักคือบรรดา สะใภ้ในหมู่บ้านประมงที่ต้องดูแลผู้สูงอายุหรือเด็กในครอบครัว ทำให้ไม่สามารถทำงานเต็มเวลาได้ และกลุ่มสะใภ้เหล่านี้มักเริ่มทำงานตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนถึงวัยชรา และถูกเรียกขานด้วยคำขำๆ ว่า "กลุ่มพันปี千歲團" เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทำให้คนที่เต็มใจทำงานนี้ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้งานแกะหอยนางรมจำนวนหลายร้อยล้านตัวทั่วไต้หวันยังคงต้องพึ่งพากลุ่มแรงงานเก่าที่มีประสบการณ์สูงเหล่านี้
นักข่าวเดินทางไปยังบ่อปลาข้างศาลเจ้าฝูต๋อในหมู่บ้านหย่งถุน (永屯村) ใต้ร่มเงาของต้นมะม่วงหนาทึบ มีคุณป้าและคุณย่า 10 คนกำลังนั่งล้อมวงแกะหอยนางรมที่เพิ่งเก็บขึ้นมาจากทะเล พวกเธอใช้ทักษะที่ชำนาญในการแกะเปลือกหอยและนำเนื้อหอยออก จากนั้นนายจ้างจะแพ็กและจัดส่งต่อไป หากทำงานเร็ว หอยสดที่เก็บในช่วงเช้าอาจถึงไทเปในเย็นวันเดียวกัน กลายเป็นเมนูอร่อยบนโต๊ะอาหารของนักชิม
หนึ่งในกลุ่มเพื่อนร่วมงานอย่าง จางฟางหลิง(張芳羚) อายุเกิน 60 ปีแล้ว ในขณะที่เพื่อนร่วมงานบางคนอายุมากกว่าเธอ บางคนเป็นคุณทวดไปแล้ว การแกะหอยกลางแจ้งในหน้าร้อนถือว่าเหนื่อยมาก แต่พวกเธอยังคงสนุกกับงานเพราะอยู่ใกล้บ้านและมีเวลาอิสระ ทำให้เป็นงานพาร์ตไทม์ที่ได้รับความนิยมในหมู่คุณย่าคุณยายในหมู่บ้านหอย
ค่าจ้างแกะหอยคิดตามน้ำหนักเนื้อหอย โดยราคาประมาณ 30 เหรียญไต้หวันต่อหนึ่งชั่ง ( 600 กรัม) คนที่ทำงานคล่องแคล่วสามารถหาเงินได้วันละ 1,000-2,000 เหรียญไต้หวัน ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวหรือเป็นค่าขนมให้หลานๆ
คุณป้าแซ่ไช่ หนึ่งในแรงงานประจำ กล่าวว่าลูกชายของเธอเลี้ยงหอยกาบอยู่ใกล้ๆ เธอต้องไปช่วยงานลูกบ่อยครั้งโดยไม่ได้ค่าจ้าง แต่รายได้จากการแกะหอยช่วยให้เธอยังคงมีอิสระทางการเงิน เธอบอกว่า แถมการแกะหอยยังเบากว่าการทำงานรอบบ่อปลามาก ขณะที่ อาม่าแซ่จวง หัวเราะและบอกว่า ปกติเธอต้องเลี้ยงหลานเป็นประจำ วันนี้เพราะขาดแรงงานแกะหอย เธอจึงถูกเรียกมาช่วย
งานแกะหอยส่วนใหญ่อาศัยแรงงานในครัวเรือนและแรงงานชั่วคราว
สำหรับแรงงาน "กลุ่มพันปี" และเกษตรกรผู้เลี้ยงหอย ถือเป็นความยืดหยุ่นของชั่วโมงการทำงานที่ช่วยลดความกดดันทั้งสองฝ่าย แต่ในขณะเดียวกัน งานที่ไม่สม่ำเสมอเช่นนี้ทำให้ยากที่จะจ้างแรงงานประจำ ส่งผลให้อุตสาหกรรมมีความไม่แน่นอนมากขึ้น
ปัญหาการขาดแรงงานอย่างรุนแรงทำให้หอยนางรมเวียดนามที่แกะเปลือกพร้อมใช้งานนำเข้า กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรหอยนางรมในไต้หวันหมดกำลังใจ และคนรุ่นใหม่ไม่กล้ารับช่วงต่อ คุณติงเจี้ยนเจีย(丁健家) ประธานสมาคมเพาะเลี้ยงหอยนางรมหยุนหลิน เปิดเผยว่า 2 ใน 3 ของเกษตรกรหอยในหยุนหลินมีอายุเกิน 55 ปี ในสายตาของพวกเขา "การเลี้ยงหอยนางรมเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังจะหมดไป" แม้จะมีรุ่นที่สองหรือสามเข้ามารับช่วงต่อ แต่เกษตรกรรุ่นเก่ามักไม่ยอมลงทุนต่อ เพราะไม่เห็นอนาคต คุณติงบอกว่า เขาและสมาชิกสมาคมพยายามไม่ยอมแพ้ โดยการผลิตลูกหอยด้วยการผสมเทียม หรือการเลี้ยงหอยนางรมแบบตัวเดี่ยวเพื่อหาหนทางใหม่ แต่ในความเป็นจริง นี่เป็นเพียง "การต่อสู้ครั้งสุดท้าย" เท่านั้น นอกจากนี้ สมาคมเพาะเลี้ยงหอยนางรมหยุนหลินเคยพยายามเปิดตัวแบรนด์ "หอยนางรมเมืองหยุนหลิน雲林蚵" และจัดตั้งสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรขายหอยนางรมของตัวเอง แต่ปัญหาสำคัญที่ไม่สามารถแก้ได้คือการขาดแรงงานแกะเปลือกหอย
คุณติงเจี้ยนเจียแสดงความผิดหวังต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งแต่การลดพื้นที่ชายฝั่ง การทำลายสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงผลกระทบจากการนำเข้าหอยนางรม ซึ่งเขามองว่าเป็น "การค้าเสรีที่หยุดไม่ได้" แม้แต่ปัญหาแรงงานแกะหอยก็ไม่มีหน่วยงานประมงใดนำเสนอทางแก้ เขายังตั้งคำถามว่าในเมื่อรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทคอย่างเต็มที่ ทำไมถึงไม่สามารถแก้ปัญหา "แรงงานศูนย์เทคโนโลยี" อย่างการแกะหอยได้?
นี่เป็นเพียงปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหอยนางรมในไต้หวันบางส่วนที่นำมาเล่าสู่กันฟัง